สดร. ชวนจับตา “ดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS)” อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในเดือน เม.ย. นี้
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ชวนจับตา “ดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS)” (ซีสองศูนย์หนึ่งเก้าวายสี่ แอตลาส) อาจสว่างจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในเดือนเมษายน 2563
ภาพถ่ายดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ ยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ภายใต้โครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศในความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กองทัพอากาศ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นายสิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. เผยว่า ขณะนี้ดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) กำลังโคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน และมีค่าความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างร่วมกันจับตามอง เนื่องจากมีโอกาสสว่างจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ค้นพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาโดยกล้องโทรทรรศน์ของโครงการแอตลาส (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System ; ATLAS) ตั้งอยู่บนหมู่เกาะฮาวาย ขณะนั้นมีความสว่างน้อยเพียงแมกนิจูด 19 จึงเป็นเพียงดาวหางดวงหนึ่งที่พบได้ทั่วไป แต่เมื่อเข้าสู่ปี พ.ศ. 2563 ความสว่างของดาวหางดวงนี้กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนคาดว่าอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
นายสิทธิพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ดาวหางดวงล่าสุดที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในไทย คือ ดาวหางเฮล-บอปป์ (Hale-Bopp) เมื่อปี พ.ศ. 2539 มีค่าความสว่างปรากฏที่แมกนิจูด -1.3 (ความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) นายเซอิจิ โยชิดะ นักล่าดาวหางชื่อดังของญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) อาจสว่างได้ถึงระดับ แมกนิจูด -2 หมายความว่าดาวหางดวงนี้อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเช่นเดียวกับดาวหางเฮล-บอปป์
ภาพกราฟแสดงค่าความสว่างของดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) ที่คาดการณ์ไว้ (เส้นสีแดง) เทียบกับผลการสังเกตการณ์จริง (จุดสีดำ) โดย เซอิจิ โยชิดะ
นักล่าดาวหางชื่อดังของญี่ปุ่น (ภาพจาก www.aerith.net)
C/2019 Y4 (ATLAS) เป็นดาวหางคาบยาวที่มีวงโคจรเกือบจะเป็นพาราโบลา (near-paraboric) กล่าวคือ มีค่าความรีสูง คาบการโคจรประมาณ 6,000 ปี จะเดินทางเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน แต่ละครั้งใช้เวลาหลายพันปี ทำให้การเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งนี้จะเป็นครั้งเดียวในช่วงชีวิตของเราที่จะสามารถสังเกตเห็นดาวหางดวงนี้
ปกติแล้วเมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเท่าใด ก็จะยิ่งสว่างมากขึ้น ซึ่งดาวหางดวงนี้จะเข้าใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ระยะห่างประมาณ 117 ล้านกิโลเมตร จากนั้นจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ห่างเพียง 0.26 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 39 ล้านกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ช่วงที่สามารถสังเกตการณ์ได้ดีที่สุด คาดว่าในเดือนเมษายน เนื่องจากไม่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไป
ภาพจำลองวงโคจรของดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) (ภาพจาก Solar Dynamic System JPL/NASA)
ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ตำแหน่งของดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) สังเกตได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กหรือกล้องสองตา ก่อนเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวยีราฟ (Camelopardalis) ในเดือนเมษายน คาดว่าจะสว่างมากขึ้นจนอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ผู้ใดสนใจชมดาวหาง ควรหาสถานที่ห่างจากตัวเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงแสงรบกวน สำหรับการหาพิกัดดาวหางบนท้องฟ้า สามารถดาวน์โหลดแผนที่ดาวพร้อมตำแหน่งดาวหางในแต่ละช่วงได้ที่ https://www.britastro.org/sites/default/files/2019y4.pdf
ทางด้าน สดร. ได้ร่วมติดตามดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) ด้วยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ บริเวณยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ภายใต้โครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ ในความร่วมมือระหว่าง สดร. กองทัพอากาศ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีวัตถุประสงค์หลักในการเฝ้าติดตามและศึกษาวงโคจรของวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ เก็บรวบรวมและสร้างฐานข้อมูล เพื่อนำไปศึกษาวิจัยต่อยอดองค์ความรู้ เป็นศูนย์ข้อมูลการเตือนภัย รวมทั้งสร้างความตระหนัก ความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศให้กับสาธารณชน ซึ่งการที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้โลก ถือเป็นเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติ สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ นายสิทธิพร กล่าวปิดท้าย