เปิดโลกการออกแบบแห่งปี “Chiang Mai Design Week 2019” พร้อมชู Better City, Better Living อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเมืองที่สร้างสรรค์

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เปิดโลกการออกแบบแห่งปี “Chiang Mai Design Week 2019” พร้อมชู Better City, Better Living อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเมืองที่สร้างสรรค์

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) 2019 ภายใต้แนวคิด Better City, Better Living ระหว่างวันที่ 1 – 15 ธันวาคม 2562 ณ จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณพื้นที่หลักย่านอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อาทิ หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา สำนักงานยาสูบ และTCDC เชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน และนำเสนองานออกแบบที่มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต สร้างเครือข่ายความร่วมมือ เชื่อมโยงศักยภาพธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการ นักออกแบบ ศิลปิน และช่างฝีมือให้สามารถเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ด้วยความร่วมมือจากจังหวัดเชียงใหม่ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจออกแบบทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และในประเทศมากกว่า 500 ราย และจากต่างประเทศอีกกว่า 10 ประเทศ ร่วมกันจัดกิจกรรมกว่า 200 กิจกรรม อาทิเช่น งานจัดแสดง นิทรรศการ การสัมมนาและเสวนาความรู้ด้านการออกแบบ การจับคู่ธุรกิจ ตลาดจำหน่ายสินค้า ดนตรี และกิจกรรมที่สร้างบรรยากาศและสีสันของเมือง ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างสรรค์ให้เทศกาลฯ เป็นจุดหมายสำคัญของการรวมพลังธุรกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้ยั่งยืน และเติบโตได้ในระดับสากล

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีเปิดเทศกาล กล่าวว่า “ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม เทคโนโลยี สินค้าและบริการมากมาย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน เพื่อพัฒนาความคิด และยกระดับสู่สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ นักสร้างสรรค์ทั้งหลายคือนักคิดที่จะสร้างความพิเศษ และมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการ อันจะเป็นการส่งเสริม และสร้างความตื่นตัว จนสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ความเป็นสากล อันจะนำมาซึ่งการสร้างรายได้ในระยะยาวต่อไป ยกตัวอย่างเช่น เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ที่จัดทุกปี เป็นปีที่ 5 ในปีนี้ และในปีแล้ว ระยะเวลาจัดงานรวม 9 วันสร้างรายได้ให้กับเมืองกว่า 960 ล้านบาท”

นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “จังหวัดเชียงใหม่เอง ถือว่าเป็นอีกเมืองที่มีนักออกแบบ และช่างฝีมือ ที่มีชื่อเสียง และทรงคุณค่าในงานศิลปะแขนงต่างๆ รวมตัวกันมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ ปี 2562 ที่มุ่งเน้นที่ต้องการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชนและท้องถิ่น เพื่อให้เชื่อมโยงสู่ระดับสากล ร่วมไปถึงกระตุ้นด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ภายในจังหวัดให้กลับมาคึกคักในช่วงส่งท้ายปี 2562 ด้วยการนำงานออกแบบ สร้างสรรค์ มาเป็นจุดเด่นในการท่องเที่ยว เป็นการดึงเอาศักยภาพของจังหวัดให้โดดเด่นมากขึ้น อันจะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของท้องถิ่น และประเทศ”

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ในปีนี้ จัดภายใต้แนวคิด “Better City, Better Living” อันเป็นการส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อยกระดับวิถีชีวิต และรวมกันสร้างเมืองน่าอยู่ให้กับชาวเมือง พร้อมกันนี้เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ยังเป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ยูเนสโก ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ในสาขาเมืองหัตถกรรม ทุกท่านจะได้ร่วมชื่นชมกับ ทุนวัฒนธรรมที่หลากหลายของภาคเหนือ ในงานหัตถกรรมในสาขาต่างๆ ผ่านผลงานออกแบบ และการแสดงคุณค่าความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น จากคุณค่าวัสดุและทักษะฝีมือช่าง โดยมีผู้ร่วมจัดแสดงผลงานกว่า 500 ราย ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็น คุณค่าที่ไม่อาจลอกเลียนแบบ เป็นจุดแข็งของกระบวนการผลิตสินค้าไทย ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะการพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรสร้างสรรค์และธุรกิจไทยให้นำความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา ต่อยอดสินค้าและบริการให้ก้าวไกลได้ยิ่งขึ้น”

ซึ่งงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) 2019 ในครั้งนี้ แบ่งการจัดงานออกตามกลุ่มหลักๆ เช่น
งานออกแบบ – พบกับผลิตภัณฑ์ด้านแฟชั่น, กราฟฟิก, งานตกแต่งภายใน และสถาปัตยกรรม
งานศิลปะ – พบกับผลงานด้านศิลปะประเพณี และศิลปะร่วมสมัย
การแสดงดนตรี และสื่อ – พบกับการแสดง, ดนตรี, อินเตอร์แอคทีฟ, ภาพถ่าย และภาพยนตร์
อาหาร – พบกับอาหารพื้นถิ่น, สโลว์ฟู้ด, ฟิวชั่นฟู้ด และเครื่องดื่ม
ส่งเสริมธุรกิจ – นำเสนอนวัตกรรมงานออกแบบ และการออกร้านของนักออกแบบผู้ประกอบการธุรกิจ นักศึกษา บุคคลทั่วไป ทั้งในเชียงใหม่ ในประเทศไทย และจากต่างประเทศ นำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ และติดต่อการค้า ควบคู่กับการขยายโอกาสให้เป็นที่รู้จัก อาทิ นิทรรศการ ตลาด และการจับคู่ธุรกิจ
เชื่อมโยงเครือข่าย – เป็นการส่งเสริมการพบปะ แบ่งปัน แลกเปลี่ยนมุมมองความรู้ และประสบการณ์ด้านการออกแบบของนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขา และผู้เชี่ยวชาญจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบของเวทีเสวนา เวิร์กช็อป และงานสังสรรค์

สำหรับทุกท่านที่มาร่วมชมงานในครั้งนี้จะพบกับ Hi-Light ทางด้านงานสร้างสรรค์แขนงต่างๆทั้ง Fabienne Jouvin – การเดินทาง การบันทึกการรวบรวมความคิด สู่การสร้างสรรค์ผลงานออกแบบงานหัตถกรรมต่างวัฒนธรรม, สัมผัสสี – สีที่รู้สึกได้ ใช้งานได้ แม้มองไม่เห็นทำลายข้อจำกัด และช่วยเสริมสร้างจินตนาการ, โรงละครของผม by Prakit SEEHAWONG – จากผู้จัดซื้อที่คอยป้อนชิ้นงานให้ชาวต่างชาติ นำประสบการณ์ และไอเดียมาสร้างสรรค์ผลงานออกแบบของตัวเองที่เปลี่ยนเศษเหล็กไร้ค่าให้กลายเป็นหน้ากาก ยกระดับสู่ของตกแต่งบ้านที่ตลาดต่างชาตินิยมชมชอบ, Chiang Mai Clayative – ผลงานสร้างสรรค์จากศิลปินเซรามิกนานาชาติที่สร้างสรรค์บันดาลใจจากเมืองเชียงใหม่, กลิ่นอายรัก จาก มานพ วงค์น้อย – แรงบันดาลใจจากความทรงจำวัยเด็กที่ผูกพันกับท้องนาและควาย โดยออกแบบให้มีควายมาเป็นเอกลักษณ์ ด้วยเทคนิคการทำเครื่องเขินตกแต่งด้วยการปิดแผ่นเงินบนผิวรัก, Oh My Craft – งานสร้างสรรค์ที่ใครก็ทำได้แต่ไม่เชย, Slow Food – อาหารที่ใส่ใจทุกขึ้นตอนตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวัตถุดิบ, Music by HIP – ปลดปล่อยความสร้างสรรค์ ผ่านเสียงเพลงด้วยแนวดนตรีหลากสไตล์ อาทิ Foxy, BACHSWING, Vels x Tontrakul, Projection Mapping by Kor.Bor.Vor – งานฉายภาพลงบนวัตถุจัดแสดง สร้างมิติ และความเคลื่อนไหวผ่านงานวิชากราฟฟิก, Into the Wind by Witaya Junma – ออกแบบโดยเลียนแบบธรรมชาติ ด้วยการเปลี่ยนลมหายใจเป็นลม โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อเปิดใช้งานกลไล ซึ่งผลลัพธ์จะแตกต่างกันทุกครั้ง

ดูรายละเอียดงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) 2019
ได้ที่ FB: chiangmaidesignweek / www.chiangmaidesignweek.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น