มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมมือ Taiwan ICDF จัดสัมมนา 2019 Royal Project Foundation and Taiwan ICDF Symposium
มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมมือ Taiwan ICDF จัดสัมมนา 2019 Royal Project Foundation and Taiwan ICDF Symposium นําองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาพืชไปประยุกต์ใช้สร้างประโยชน์ต่อเกษตรกรต่อไป
ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ กรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานเปิดงานสัมมนา 2019 Royal Project Foundation and Taiwan ICDF Symposium : Technical Cooperation on Integrated Crop Management in Royal Project Area โดยมีนักวิชาการมูลนิธิโครงการหลวง นักวิชาการจากประเทศไต้หวัน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการสัมมนา
การสัมมนาในครั้งนี้เพื่อสรุปผลการดําเนินงานวิจัยและพัฒนาของโครงการ ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมูลนิธิโครงการหลวง และ Taiwan ICDF แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนข้อคิดเห็น เพื่อนําองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาพืชไปประยุกต์ใช้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ
มูลนิธิโครงการหลวงได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากหน่วยงานของไต้หวัน เป็นระยะเวลากว่า 50 ปี และในปี พ.ศ. 2554 หน่วยงาน Taiwan ICDF ก็ได้เข้ามาสนับสนุนและให้ความร่วมมือด้านวิชาการ โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาพืชผัก ผลไม้ ไม้ดอก และงานอารักขาพืช ทำให้มูลนิธิโครงการหลวงสามารถผลิตยอดพันธุ์มันเทศ ออกส่งเสริมแก่เกษตรกรปลูกมากกว่า 350,000 ยอด รวมทั้งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ โดยการใช้ความร้อนเพื่อเพิ่มคุณภาพของดอกกลอริโอซา คัดเลือกต้นตอองุ่นที่เหมาะสมกับพื้นที่โครงการหลวง ได้ 2 สายพันธุ์ คือ SP188 และ SP191 โดยสายพันธุ์ SP188 สามารถผลิตเป็นต้นกล้าเพื่อส่งเสริมเกษตรกรปลูกเป็นอาชีพได้สำเร็จ และ Taiwan ICDF ยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนเทคนิคกับนักวิชาการของโครงการหลวงอย่างต่อเนื่อง ในด้านการอารักขาพืช ตามนโยบายหลักของมูลนิธิโครงการหลวงที่มุ่งเน้นการส่งเสริมใช้ผลิตภัณฑ์และวิธีการธรรมชาติ เพื่อลดการใช้สารเคมี ความร่วมมือที่โครงการหลวงได้รับจาก Taiwan ICDF ประสบผลสำเร็จทำให้สามารถผลิตชีวภัณฑ์จากเชื้อราไตรโคเดอร์มาบูเวเรีย และแบคทีเรียบาซิลลัส ซึ่งใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชในกะหล่ำปลีและผักกาดหอมห่อ ทั้งในระบบอินทรีย์ และ GAP สามารถลดการใช้สารเคมีลงได้ถึง 30-60 เปอร์เซ็นต์ และยังทดสอบการป้องกันกำจัดโรคไวรัสในมะเขือเทศและคะน้าได้สำเร็จเช่นกัน
นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาการระบาดของแมลงวันผลไม้ด้วยระบบภูมิสารสนเทศ โดยสร้างแบบจำลอง GIS เพื่อวิเคราะห์การระบาดของแมลงวันผลไม้ เผยแพร่ทางเว็บไซด์ เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์ และยังได้จัดอบรมให้ความรู้ด้านการอารักขาพืชที่เหมาะสมแก่เกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวงกว่า 150 ราย
สำหรับความร่วมมือในระยะต่อไป ซึ่งเป็นระยะที่ 4 ระหว่างปี พ.ศ.2563-2565 ศ.เกียรติคุณ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ กรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ผู้แทนของมูลนิธิโครงการหลวง และ Mr. Hsiang Tien-Yie เลขาธิการ Taiwan ICDF ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันต่อเนื่อง เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวเขาในพื้นที่โครงการหลวงและพื้นที่สูงอื่นๆ ต่อไป
ขอบคุณภาพ/ข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่