ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ดันหัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรม LifeStyle จัดโชว์แสดงผลงานที่เมญ่าฯ เชียงใหม่
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาอุตสาหกรรมและหัตถกรรมให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) และผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน มีแนวคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปหัตถกรรมเครื่องเขิน ให้แก่ผู้ประกอบการที่ทำการผลิตเครื่องเขิน และผู้ที่สนใจ ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ให้เกิดการกระตุ้น เพื่อรักษาภูมิปัญญา ประยุกต์ใช้ในการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องเขิน ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน สามารถตอบสนองความต้องการของ ผู้บริโภคที่มองไม่เห็น หรือยังไม่ได้รับการตอบสนอง ผ่านการคิดค้นการใช้งานรูปแบบใหม่ ที่ผลิตภัณฑ์เดิมไม่เคยทำได้มาก่อน หรือสร้างคุณค่าใหม่ในสายตาของกลุ่มลูกค้าในตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพ
โดยได้จัดกิจกรรมสัมมนาชี้แจงโครงการ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2562 , กิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเครื่องเขิน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา เพื่อรับสมัครผู้ที่มีศักยภาพ เข้าร่วมประกวดผลงานการพัฒนาเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ ซึ่งมีการจัดผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา และแนะนำเชิงลึกด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ คอยให้คำแนะ นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบเครื่องเขินให้กับเป้าหมายในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหรือตอนบน 1 อันได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ เป็นการคัดเลือกผลงานจากผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น 40 ผลงาน เพื่อคัดเลือกรางวัลที่ 1 2 3 และรางวัลชมเชย 2 รางวัล โดยทุกผลงานที่ส่งเข้าประกวด ได้จัดแสดง ณ บริเวณลานกิจกรรม ศูนย์การค้าเมญ่า ไลฟ์สไตล์ ชอปปิ้งเซ็นเตอร์ ในระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2562 และอีกทั้งยังจะนำไปแสดงที่ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 28-31 สิงหาคม 2562 อีกด้วย โดยในงานมี นางสาวนิรามัย ศิริศรีสุดากุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เป็นประธานเปิดงาน และนางพรสวรรค์ หมายยอด ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการส่งเสริมอุตสาหกรรมชุมชน กล่าวรายงาน
นางพรสวรรค์ หมายยอด ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการส่งเสริมอุตสาหกรรมชุมชน ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กล่าวว่า กิจกรรมทดสอบตลาดเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจและการประกวดผลิตภัณฑ์เครื่องเขินภายใต้งาน “lifestyle lacquerware 2019” ยกระดับหัตกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ในครั้งนี้ ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนบน เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวเป็นที่นิยม มีเอกลักษณ์โดเด่น เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของประเทศ สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ประกอบกับงานหัตถกรรมในท้องถิ่นของภาคเหนือ เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งหนึ่งในนั้น ได้แก่ งานหัตถกรรมเครื่องเขินของภาคเหนือ ที่ถือว่าเป็นงานหัตถกรรมที่มีอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงมาช้านาน เป็นงานด้านหัตถศิลป์ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อเป็นการเผยแพร่และยกระดับงานหัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จึงได้จัดทำโครงการยกระดับหัตกรรมท้องถิ่นสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ และได้ดำเนินกิจกรรมยกระดับหัตกรรมเครื่องเขิน สู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้และรักษาภูมิปัญญาเครื่องเขินล้านนา เพื่อพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์เครื่องเขิน ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใน ปัจจุบันสามารถตอบสนอง ความต้องการของ ผู้บริโภคที่มองไม่เห็นหรือยังไม่ได้รับการตอบสนอง และเพื่อให้เกิดการคิดค้นการใช้งานรูปแบบใหม่ ที่ผลิตภัณฑ์เดิมไม่เคยทำมาก่อน หรือสร้างคุณค่าใหม่ในสายตาของกลุ่มลูกค้าในตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพ
ทั้งนี้ ได้ดำเนินการและจัดกิจกรรมภายใต้โครงการได้แก่ รวบรวมองค์ความรู้และบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านหัตถกรรมเครื่องเขิน , สำรวจและวิเคราะห์สภาวะเครื่องเขินในระดับจังหวัดและระดับภาค , การถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบแก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องเขิน , การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านการออกแบบและพัฒนาหัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ , การจัดประกวดผลิตภัณฑ์เครื่องเขินภายใต้แนวคิด “หัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์” , การทดสอบตลาดเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจ และการสร้างการรับรู้และแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องเขินล้านนา
กิจกรรมการจัดประกวดผลิตภัณฑ์เครื่องเขินภายใต้แนวคิด “หัตถกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์” และกิจกรรมการทดสอบตลาดเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจ ภายใต้ชื่องาน “lifestyle lacquerware 2019 ยกระดับหัตกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์” มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องเขินในแนวคิดใหม่ สู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์และสำรวจทิศทางแนวโน้มทางการตลาดของผลิตภัณฑ์เครื่องเขินในสายตาของผู้บริโภค กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดแสดงนิทรรศการเครื่องเขินจากอดีตสู่ปัจจุบัน การจัดแสดงผลงานที่ได้รับการพัฒนาและออกแบบจากผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 17 ราย 34 ผลงาน การตัดสินการประกวดผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวด แบ่งออกเป็น 5 รางวัลได้แก่ รางวัลที่ 1 จำนวน 1 ผลงาน มูลค่ารางวัล 50,000 บาท รางวัลที่ 2 จำนวน 1 ผลงาน มูลค่ารางวัล 30,000 บาทรางวัลที่ 3 จำนวน 1 ผลงาน มูลค่ารางวัล 20,000 บาท และรางวัลชมเชย จำนวน 2 ผลงาน มูลค่ารางวัลผลงานละ 10,00 บาท โดยผู้ได้รับรางวัลจะได้รับเงินสดพร้อมโล่รางวัลและใบประกาศและมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ภายในงาน “lifestyle lacquerware 2019” ยกระดับหัตกรรมเครื่องเขินสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ ณ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพฯ
พร้อมกันนี้ นางสาวนิรามัย ศิริศรีสุดากุล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้หัตถกรรมเครื่องเขินล้านนา ได้รับการยกระดับและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องเขินทุกท่านออกสู่สายตาของกลุ่มลูกค้าในมุมมองใหม่ๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบัน และในอีกมุมหนึ่ง เราก็ยังคงสร้างมูลค่าเพิ่มของภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่ไปกับการอนุรักษ์หัตถกรรมเครื่องเขินของล้านนาให้คงไว้ การจัดงานครั้งนี้ จึงเป็นการสืบสานงานหัตถกรรมเครื่องเขินของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เป็นการจุดประกายทางความคิด ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาดภายใต้แนวคิดยกระดับหัตกรรมท้องถิ่นสู่อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์