นโยบาย อสม.เพื่อสุขภาพ ภายใต้ รมว.สธ.ป้ายแดง อนุทิน

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์, ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย รัฐมนตรีหรือผู้แทนราษฎรที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในทางที่ดีทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะได้รับความชื่นชม ซึ่งจะกลายเป็นความนิยมและได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้งหรืออีกหลายๆครั้ง

ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูร ได้ให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งในวันที่ 22 กรกฎาคม 2562  กล่าวถึงนโยบายฝึกอบรมให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เข้าใจเรื่องการใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์อย่างถูกต้อง แล้วจะให้นำร่องปลูกคนละหกต้นเพื่อให้มีกัญชาเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่จะได้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ต่อไป เช่น ขณะนี้มีคนไข้ของหมอเดชา (เดชา ศิริภัทร) อยู่ถึง 20,000-30,000 คน   ท่านกล่าวว่านโยบายนี้ทำเพราะความห่วงใยในสุขภาพของคนไทย

ซึ่ง อสม.เป็นกลไกสุขภาพชุมชนที่เข้มแข็งของประเทศไทยซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลก  โดย อสม.มีภารกิจช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชนจำนวนมาก ตลอดจนป้องกันการเจ็บป่วยในอีกหลายหลายมิติ เช่น การรณรงค์คว่ำขันน้ำเพื่อลดการแพร่ระบาดของยุงลายอันนำมาซึ่งไข้เลือดออก การช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง ตลอดจนการช่วยเหลือให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ให้สำเร็จ เป็นต้น   นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่จะให้ อสม.ดำเนินการเกี่ยวกับสุขภาพ จึงเป็นนโยบายที่ถูกต้องอย่างยิ่ง ด้วยว่าขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมี อสม.กว่าหนึ่งล้านคนทั่วประเทศไทย หาก อสม.ทำอะไรพร้อมๆกันอย่างแข็งขันเรื่องนั้นจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ในขณะที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยผู้ป่วยที่น่าจะได้ประโยชน์จากการใช้กัญชาทางการแพทย์ เช่น ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ผู้ป่วยมะเร็งที่ทานอาหารไม่ได้จากการได้รับเคมีบำบัด เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีอยู่ในจำนวนหลักหมื่นหรือหลักแสนคนทั่วประเทศไทย จนท่านรัฐมนตรีประสงค์ที่จะอาศัยกลไก อสม.ในการผลักดันนโยบายกัญชาทางการแพทย์นั้น   มีอีกโรคหนึ่งที่ควรห่วงใยไม่แพ้กันคือโรคการเสพติดนิโคตินหรือการเสพติดบุหรี่นั่นเอง

ประเทศไทยพร้อมกับอีกหลายประเทศทั่วโลกตกลงร่วมกันในการลดการตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases หรือ NCD) เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือก โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และ โรคปอดเรื้อรัง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ทานอาหารหวานมันเค็ม และ การไม่ออกกำลังกาย   โดยมีเป้าหมายหลายประการ รวมถึงการลดผู้สูบบุหรี่ลงร้อยละ 30 ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น คือ การทำให้มีผู้เลิกสูบบุหรี่จำนวน 3.3 ล้านคน

ทั้งนี้ “โครงการ 3 ล้าน 3ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน” คือโครงการที่อาศัยกลไก อสม.จำนวน 1 ล้านคน ให้ชวนและช่วยผู้สูบบุหรี่ให้เลิกสูบบุหรี่ให้ได้ 1 คนต่ออสม. 1 คนต่อปี   โครงการนี้ประสบความสำเร็จในการชวนผู้สูบบุหรี่ให้เข้าร่วมโครงการ (เรียกว่า Entry) ได้ถึง 2.9 ล้านคนในช่วงสามปีที่ผ่านมา โดยมีผู้เลิกสูบบุหรี่สำเร็จต่อเนื่องอย่างน้อยหกเดือนประมาณ 1.3 แสนคน (เรียกว่า Exit) ซึ่งมากกว่าการดำเนินโครงการหรือให้บริการใดๆ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ขณะนี้ อสม.ได้ทำการค้นหาผู้สูบบุหรี่และมีรายชื่อผู้สูบบุหรี่อยู่ในมือแล้ว และผู้สูบบุหรี่เหล่านี้กำลังพยายามเลิกสูบบุหรี่อยู่   หาก อสม.และ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ดำเนินกิจกรรมต่อไปนี้ จะสามารถทำให้เป้าหมายลดคนสูบบุหรี่สามล้านคนในสามปีเกิดขึ้นได้จริง นั่นคือ 1) อสม.ไปพบปะเยี่ยม ให้กำลังใจผู้ที่กำลังพยายามเลิกสูบบุหรี่อย่างสม่ำเสมอ   2) อสม.ชวนผู้ที่เลิกสูบบุหรี่สำเร็จแล้วให้ประกบผู้ที่กำลังเลิกสูบบุหรี่ ไปพบปะเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ พร้อมทั้งให้คำแนะนำเทคนิควิธีการที่ตนเองใช้ในการเลิกสูบบุหรี่ เพราะผู้ที่เลิกสูบบุหรี่สำเร็จแล้วมีพลังในการสร้างแรงบันดาลใจในการเลิกสูบให้ผู้ที่กำลังสูบบุหรี่อยู่มากกว่าแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเสียอีก และ 3) เจ้าหน้าที่ รพ.สต.จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีประสบความสำเร็จ (Best practice) ทั้งกรณีของผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบได้แล้ว หรือ อสม.ที่ชวนและช่วยคนเลิกสูบบุหรี่ได้จำนวนมาก โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพียงหนึ่งชั่วโมงในวันรับค่าตอบแทนของอสม.ในแต่ละเดือนเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

อาจมีคำถามว่าเป็นไปได้หรือที่ อสม.จะสามารถชวนและช่วยให้กำลังใจให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่แบบเด็ดขาดด้วยตนเอง ที่เรียกว่า “หักดิบ” ได้   คำตอบคือ “ได้แน่นอน” ด้วยมีงานวิจัยในกลุ่มผู้ที่เลิกสูบบุหรี่สำเร็จ ซึ่งพบว่าผู้ที่เลิกสูบบุหรี่สำเร็จส่วนใหญ่เลิกสูบด้วยตนเอง และการหักดิบได้ผลมากกว่าการค่อยๆลดการสูบลง เช่น ร้อยละ 72 ของผู้เลิกสูบบุหรี่สำเร็จในประเทศสหรัฐอเมริกา และร้อยละ 94 ของผู้เลิกสูบบุหรี่สำเร็จในประเทศไทย ก็เลิกสูบสำเร็จได้ด้วยตนเอง   มีเพียงส่วนน้อยที่เลิกด้วยการใช้บริการทางการแพทย์รูปแบบต่างๆ

สรุปคือ นโยบายของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการอาศัยกลไก อสม. ในการดูแลสุขภาพของประชาชนนั้นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง   แต่สังคมไทยจะจดจำท่านรัฐมนตรีท่านนี้ว่าเป็นผู้ห่วงใยสุขภาพของผู้ป่วยที่จะได้ประโยชน์จากการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่มีจำนวนหลักหมื่นหรือหลักแสนคนเท่านั้น หรือท่านจะห่วงใยสุขภาพของคนทุกกลุ่ม เช่น สุขภาพของผู้สูบบุหรี่จำนวน 11 ล้านคน พร้อมสุขภาพของครอบครัวผู้สูบบุหรี่ด้วยอีกหลายสิบล้านคน ประชาชนต้องติดตามดูต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น