10 มิ.ย. นี้ เตรียมตื่นตา “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี”
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย 10 มิถุนายนนี้ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ชี้เป็นโอกาสดีจะสังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้าและปรากฏสว่างมาก หากสภาพอากาศเป็นใจ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ เตรียมจัดส่องดาวพฤหัสบดีผ่านกล้องโทรทรรศน์ ชมแถบเมฆ จุดแดงใหญ่ และดวงจันทร์บริวารอย่างเต็มตา ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่งที่ เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา สงขลา และโรงเรียนเครือข่ายอีกกว่า 410 แห่งทั่วประเทศ
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า วันที่ 10 มิถุนายน 2562 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Opposition) ตรงกับเวลาประเทศไทย ประมาณ 22.21 น. ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างประมาณ 640 ล้านกิโลเมตร (4.28 AU) เมื่อดวงอาทิตยลับขอบฟ้าในวันดังกล่าว ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏทางทิศตะวันออก เฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนแบกงู ความสว่างปรากฏ -2.6 (ความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) หากฟ้าใสไร้ฝน สามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเเก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง
ภาพจำลองแสดงตำแหน่งของดาวพฤหัสบดี วันที่ 10 มิถุนายน 2562 เวลา 20:15 น. ด้วยโปรแกรม Stellarium
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากสังเกตดาวพฤหัสบดีด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะมองเห็นแถบเมฆ และดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลียน (Galilean Moons) ได้แก่ ไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) แกนิมีด (Ganymead) และคัลลิสโต (Callisto) และหากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นจุดแดงใหญ่บน ดาวพฤหัสบดี (Great Red Spot) ได้อย่างชัดเจน
สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ตั้งกล้องโทรทรรศน์บริการประชาชนร่วมชม “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” วันที่ 10 มิถุนายน 2562 เวลา 18:00-22:00 น. เชิญชวนผู้สนใจร่วมกิจกรรมได้ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่
1) เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (081-8854353)
2) นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา (086-4291489)
3) ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา (084-0882264)
4) สงขลา : ลานชมวิวนางเลือก หาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา (095-1450411)
พิเศษ! สำหรับชาวเชียงใหม่พบกับ Special Talk “มหัศจรรย์ดาวพฤหัสบดี” โดย ดร.มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ พร้อมชมดาวพฤหัสบดีเคล้าเสียงดนตรี ผู้สนใจลงทะเบียนออนไลน์ล่วงหน้า ลุ้นรับของที่ระลึกจำนวนจำกัดได้ที่ http://bit.ly/2QDqbwj
นอกจากนี้ หน่วยงานเครือข่ายอีกกว่า 410 แห่งทั่วประเทศ ที่รับมอบกล้องโทรทรรศน์ในโครงการ “กระจายโอกาส 77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” ได้จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์และนำกล้องโทรทรรศน์มาบริการประชาชนเช่นกัน ติดตามรายละเอียดและสถานที่จัดกิจกรรมเพิ่มเติมที่ www.NARIT.or.th