สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงกับงานวิจัยและการพัฒนากาแฟอราบิก้า จาก 5 ยอดดอย

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. จัดตั้งขึ้นเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะสนับสนุนงานโครงการหลวงและขยายผลงานโครงการหลวงในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมบนที่สูงของประเทศไทยให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน

การดำเนินงานส่งเสริมการปลูกกาแฟในพื้นที่ดำเนินงานทั้งหมด 26 แห่ง เป็นพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง จำนวน 17 แห่ง และโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน 9 แห่ง มีพื้นที่ที่ดำเนินงานใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน และตาก มีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่ได้รับการส่งเสริมจากสถาบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 2,423 ราย พื้นที่ส่งเสริมปลูก จำนวน 7,966.09 ไร่ ผลผลิตกาแฟกะลา ประมาณ 260 ตันต่อปี เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตกาแฟกะลาผ่านมูลนิธิโครงการหลวงและตลาดอื่นๆ ในปีการผลิต 2559/60 จำนวน 29,826,067 บาท

ด้านงานวิจัย

กาแฟอราบิก้าซึ่งเป็นพืชที่นำมาศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนากาแฟอราบิก้าให้มีผลผลิตและคุณภาพดีเยี่ยม มีงานวิจัย เช่น การตัดแต่งเพื่อเพิ่มผลผลิตกาแฟ การปลูกกาแฟภายใต้ร่มเงาไม้ การประเมินและเฝ้าระวังการระบาดของโรคและแมลงศัตรูกาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูง รวมไปถึงการศึกษาและคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟ     อราบิก้าคุณภาพดีเยี่ยมของโครงการหลวง ฯลฯ

ด้านงานพัฒนา

ได้นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตกาแฟอราบิก้าจากโครงการหลวงไปขยายและถ่ายทอดให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงมีการฝึกอบรมเกษตรกร การศึกษาดูงานของเกษตรกร การพัฒนาแปลงสาธิตและแปลงตัวอย่างกาแฟอราบิก้า การพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้กาแฟอราบิก้า การจัดทำสื่อการเรียนรู้ การเชื่อมโยงด้านการตลาดระหว่างกลุ่มเกษตรกร และการพัฒนาระบบประเมินคุณภาพและมาตรฐานกาแฟของโครงการหลวง

ประวัติความเป็นมากาแฟดอยช้าง

กาแฟดอยช้าง มีฐานการผลิตและแหล่งเพาะปลูกหมู่บ้านดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย การปลูกกาแฟในดอยช้าง มีที่มาจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ชาวไทยภูเขาในพื้นที่สูง หันมาปลูกพืชเมืองหนาว และแจกจ่ายพันธุ์กาแฟอราบิก้าให้ชาวเขาทดลองปลูกในปี 2526  โดยมี ผู้ใหญ่บ้านพิกอ แซ่ดู หรือพิกอ พิสัยเลิศ เป็นเกษตรกรรายเดียวที่ปลูกกาแฟมาตลอด แม้บางช่วงจะรู้สึกว่าการปลูกกาแฟไม่สามารถสร้างรายได้ที่น่าสนใจให้กับท้องถิ่น จนเกือบจะท้อใจไปหลายรอบ ส่วนการกำเนิดแบรนด์ดอยช้างมาจาก พิกอได้มาปรึกษาเพื่อนสนิท วิชา พรหมยงค์ ในการนำเมล็ดกาแฟสดจากต้นมาแปรรูปเป็นเมล็ดกาแฟคั่วบดจำหน่ายในรูปแบบค้าปลีก วิชาจึงได้ผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัท ดอยช้างเฟรชโรสเต็ดคอฟฟี่ ผลิตและจัดจำหน่ายกาแฟภายใช้ชื่อกาแฟดอยช้าง ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล ในปี 2553ในช่วงเวลานั้นวิชาเป็นเหมือนพี่เลี้ยงให้กับชุมชนดอยช้าง และยังเป็นผู้ผลักดันกาแฟดอยช้างให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก จนวิชา ได้รับการขนานนามว่ามิสเตอร์ คอฟฟี่ หรือมิสเตอร์ ดอยช้าง เมื่อวิชาเสียชีวิตลงในปี 2557 ปณชัย พิสัยเลิศ ลูกชาย พิกอ และพิษณุชัย แก้วพิชัย ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ก็ได้รับช่วงบริหารต่อพร้อมปรับโลโก้ให้มีความทันสมัยขึ้น และรีแพคเก็จบรรจุกาแฟคั่วบดให้มีสีสันและสื่อถึงความเป็นกาแฟที่ปลูกจากชาวเขาพร้อมปรับโลโก้ให้มีความทันสมัยขึ้น ส่วนโลโก้กาแฟดอยช้างเป็นภาพวาดหน้า พิกอ และชื่อดอยช้างเป็นชื่อของสถานที่ปลูกกาแฟ ซึ่งไอเดียทั้งหมดเป็นของวิชา และการตั้งชื่อแบรนด์กาแฟว่าดอยช้างนี่เองทำให้ กาแฟดอยช้างได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของสหภาพยุโรป (EU) และของประเทศไทย

ประวัติความเป็นมากาแฟบ่อเกลือ (ห้วยโทน)

บ้านห้วยโทน ภาษาท้องถิ่น เรียกว่า “สะโทน” หมายถึงหมู่บ้านอยู่แบบโดดๆ ตั้งอยู่บนไหล่เขา ติดแนวชายแดน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคาและป่าผาแดง มีพื้นที่ประมาณ 14,000 ไร่ มีความสูงประมาณ 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล บรรยากาศดี อากาศเย็นสบาย เป็นหมู่บ้านของชาวเผ่าลั๊วะที่มีวิถีชีวิตอยู่อาศัยพึ่งพิงกับธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางชีวิตการเกษตร อาทิ องุ่น พริกหวาน สตรอว์เบอร์รี่ กาแฟ ซึ่งเป็นที่ปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าคุณภาพดี เนื่องจากพื้นที่ปลูกมีความสูงประมาณ 1,400 เมตร มีผลผลิตปีละประมาณ 6 ตัน ซึ่งส่งขายในพื้นที่จังหวัดน่าน

กาแฟบ้านห้วยโทน ได้เคยถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณ วรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒนรัฐสีมาคุณาการปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินติดตามการดำเนินงานของศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561

ประวัติความเป็นมากาแฟดอยลาง

ดอยลาง เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอำเภอแม่อายจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่ม (แม่ฝาง) อยู่ขึ้นไปทางเหนือของดอยผ้าห่มปก ซึ่งเป็นพื้นที่ติดประเทศพม่า อยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาเรียงรายสลับซับซ้อนตามชายแดนไทยพม่า มีแม่น้ำลางที่ไหลมาจากประเทศพม่า ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศ พื้นที่ชุมชนดอยลางยังคงความเป็นธรรมชาติและอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติที่หลากหลาย โดยเฉพาะนกสวยงามและป่าไม้นานาพันธุ์ที่นับจะหาชมได้ยากในปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างหนาวเย็นและมีฝนตกชุก ในบางพื้นที่อุณหภูมิต่ำจนเกิดแม่คะนิ้งบนยอดหญ้าและมีหมอกปกคลุมทั่วทั้งพื้นที่ป่า อันเป็นเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวโหยหา ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่สมบูรณ์นี้จึงเป็นผลดีและเหมาะสมอย่างยิ่งในการปลูกพืชผลการเกษตรในเมืองหนาวและกาแฟพันธุ์ดีที่คนคลั่งกาแฟใฝ่หาและแวะเวียนมาชื่นชมธรรมชาติกับนกสวยงาม สายลมพลิ้วไหว และปล่อยใจรื่นรมย์ไปกับกาแฟดีๆสักแก้ว สวรรค์ก็อยู่แค่เอื้อม

พื้นที่กว่า 200 ไร่ คือไร่กาแฟอาราบิก้าสายพันธุ์คาติมอร์ที่มีความต้านทานโรคได้ดี โดยปลูกรวมกับต้นชาและอาศัยร่มเงาจากการปลูกใต้ร่มเงาขนุนลิ้นจี่และผลไม้อื่นๆด้วยวิธีการปลูกและดูแลแบบอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและด้วยความตระหนักในคุณค่าของเมล็ดกาแฟที่สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนเกษตรกรได้ใช้ความรู้และความใส่ใจความพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการปลูกและแปรรูป ทำให้ได้ผลผลิตกาแฟคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยจะเก็บผลเชอรี่ที่สุกและมีสีแดงที่ระดับ 90-100 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี และนำผลเชอรี่ไปผ่านการแปรรูปแบบเปียก (wet process) โดยจะปอกเปลือกภายใน 12 ชั่วโมง และนำไปตากแห้งสนิทเพื่อให้ได้กาแฟกะลาที่มีคุณภาพสูงเพื่อรอนักเดินทางมาร่วมเปิดประสบการณ์กับกาแฟดอยลางที่จะไม่จางหายไปกับสายลมและสายหมอก

ประวัติความเป็นมากาแฟดอยแม่สลอง

ประวัติความเป็นมาของกาแฟบ้านพนาสวรรค์

กาแฟบ้านพนาสวรรค์ได้รับพันธุ์กาแฟอาราบิก้าจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้เชียงใหม่ เมื่อปีพ.ศ 2528 ถึงปัจจุบัน โดยชาวบ้านได้นำมาเพาะปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในหมู่บ้านพนาสวรรค์ กาแฟพันธุ์อาราบิก้า เป็นกาแฟที่ปลูกในที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตรขึ้นไป ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ รสชาติหอมกลมกล่อม และเป็นพืชทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่ทางโครงการหลวงได้ส่งเสริมแก่เกษตรกรในพื้นที่สูง เพื่อปลูกทดแทนฝิ่นและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยมุ่งการผลิตกาแฟที่มีคุณภาพสูง กาแฟอาราบิก้านิยมนำมาคั่ว บด และชง โดยการกรองกากออก หรือที่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า กาแฟสด  พันธุ์อาราบิก้าที่ปลูกในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์คาติมอร์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและที่สำคัญอย่างยิ่งคือมีความต้านทานต่อ โรคราสนิม  ลักษณะทั่วไปคือมีทรงพุ่มใหญ่ต้นเตี้ยใบใหญ่สีเขียวข้อถี่ ดอกมีกลิ่นหอมและให้ผลดก

ประวัติความเป็นมากาแฟดอยปางมะโอ

“ปางมะโอ” เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีลักษณะคล้ายแอ่งกระทะ ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีบรรยากาศโดยรอบที่สดชื่นและเย็นสบายตลอดทั้งวันชุมชนบ้านปางมะโอ ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่แมะ-แม่นะ ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ชุมชนแห่งนี้ เป็นชุมชนชาวล้านนาไทยผู้สืบทอดการทำป่าเมี่ยงแบบดั้งเดิม จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในอดีต พูดถึงที่มาของคำว่า “ปางมะโอ” ว่า ในอดีตครูบาศรีวิชัยได้มาสร้างพระธาตุ โดยนำลูกส้มโอทองคำหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “มะโอคำ” ตามภาษาพื้นเมือง มาฝังไว้บริเวณใต้พระธาตุ ส่วนคำว่า “ปาง” หรือ “ป๋าง” เป็นคำเรียกเพิงที่พักของชาวลั๊วะ ซึ่งสันนิษฐานว่าเคยเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มาก่อน  จากคำว่า “มะโอคำ” จึงเพี้ยนมาเป็น “ปางมะโอ” จนถึงปัจจุบัน ที่นี่ไม่ได้มีเพียงแค่ใบเมี่ยงเท่านั้นที่ขึ้นชื่อ แต่หมู่บ้านแห่งนี้ยังเป็นแหล่งปลูกกาแฟอาราบิก้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอเชียงดาวด้วย โดยชาวชุมชนบ้านปางมะโอส่วนใหญ่ จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมแบบผสมผสาน มีพืชที่โดดเด่น ได้แก่ เมี่ยง กาแฟ ไผ่ ไม้ดอกเมืองหนาว และพืชสมุนไพร อีกทั้งปัจจุบันยังได้มีการทดลองปลูกผลไม้ที่ได้รับความนิยมอย่าง อาโวคาโด พีช (ลูกท้อ) สตรอเบอร์รี และองุ่น อีกด้วย ผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้านชุมชนบ้านปางมะโอ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งเอื้ออำนวยให้ธรรมชาติโดยรอบชุมชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และเหมาะสมแก่การเพาะปลูก จึงเกิดการรวมตัวกันของคนในชุมชนขึ้น เพื่อจัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ป่าต้นน้ำของชุมชน อาทิ กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำและการทำแนวกันไฟ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวช่วยสร้างสำนึกที่ดีของคนในชุมชนต่อพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่แมะ-แม่นะ ได้เป็นอย่างดี

ความอุดมสมบูรณ์ภายในชุมชน และความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าโดยรอบ ส่งผลให้ชุมชนบ้านปางมะโอแห่งนี้มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่น่าสนใจ เต็มไปด้วยความหลากหลายของพืชนานาพันธุ์ มีพันธุ์ไม้หายากและต้นยางอายุมากหลายต้น สามารถพบได้ตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติของชุมชนบ้านปางมะโอแห่งนี้ หากเดินชมบรรยากาศโดยรอบชุมชน จะพบว่าบริเวณบ้านเรือนของชาวบ้าน จะเต็มไปด้วยไม้ดอกเมืองหนาว ทั้งกุหลาบและกล้วยไม้นานาพันธุ์ ถูกปลูกลงในกระถาง จัดเป็นสัดส่วนอย่างสวยงาม วางไว้บริเวณหน้าบ้านทุกหลัง เมื่อไม้ดอกเหล่านี้เจริญเติบโต แข็งแรง และออกดอกสวยงามแล้ว ชาวบ้านก็จะส่งขายให้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ด้วย เศรษฐกิจของชุมชนบ้านปางมะโอแห่งนี้ ดำเนินไปในรูปแบบของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มพึ่งตนเองของชาวบ้าน มีการส่งผลผลิต เช่น ใบเมี่ยง และกาแฟ นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ กาแฟ Arabica (กาแฟดอยหลวงปางมะโอ) ชาอัสสัม และน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรนานาชนิด สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เร็ว ๆ นี้ บ้านปางมะโอกำลังเตรียมความพร้อม เปิดหมู่บ้านให้นักท่องเที่ยวที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เข้ามาสัมผัสบรรยากาศและวิถีชีวิตของคนในชุมชนพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่แมะ-แม่นะ ทั้งการพักผ่อนแบบโฮมสเตย์ แหล่งเรียนรู้การปลูกเมี่ยง และแหล่งเรียนรู้เรื่องกาแฟ ตั้งแต่การเพาะปลูกตลอดจนการเก็บเกี่ยวและแปรรูป โดยทางชุมชนจะกำหนดขอบเขตในการท่องเที่ยว เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ดั้งเดิมของชุมชนและพื้นที่ป่าไว้ด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น