ลำพูน ภูมิใจเสนอ “สุดยอดผลิตภัณฑ์หัตถนวัตกรรมจังหวัดลำพูน” เตรียมความพร้อมสู่สากล

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ในด้านอุตสาหกรรม ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศ โดยการพัฒนาวัตถุดิบและกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมการวิจัยเกษตรแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและแก้ไขปัญหาที่สำคัญของประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้การออกแบบและสร้างสรรค์การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Value–Based Economyและ Thailand 4.0 โดยใช้แนวทางการเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขัน

จังหวัดลำพูน โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน และสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาลำพูนเขต 1 , และเขต 2 ร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกัน ภายใต้ “โครงการส่งเสริมและพัฒนาหัตถนวัตกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สากล” โดยได้จัดการแถลงข่าวขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต ซึ่งมีนายสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นางเฟื่องฟ้า ตุลาธรรมกุล พาณิชย์จังหวัดลำพูน ผู้แทนทางสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน นางอาภัสรา  ธงพิทักษ์ (หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ฯ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน) ผู้แทนทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน (นางสาวจินตนันท์ ขันไชย หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน) และผู้แทนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลำพูน (นางผ่องศรี  รัตนงาม ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลำพูน) ร่วมแถลงข่าว

โดยงานนี้เป็นการประสานแนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรมของแต่ละหน่วยงานตามโครงการฯ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่สอดรับกับห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การส่งเสริมการเรียนรู้ในระดับนักเรียนและเยาวชน การพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการในชุมชนที่ยังไม่มีความพร้อม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของจังหวัดสู่นวัตกรรม เริ่มจากต้นน้ำที่สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาลำพูน จนถึงปลายน้ำที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน โดยความร่วมมือในครั้งนี้ได้มีการบูรณาการการการดำเนินงานดังนี้

– สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 1 และเขต 2 ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหัตถกรรมสร้างสรรค์และส่งเสริมการเรียนการสอน วิชาการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยีในสถานศึกษาท้องถิ่น

– สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน ดำเนินกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ลำพูน เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ OTOP โดยจัดการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตชุมชน/ผู้ประกอบการ OTOP (กลุ่ม OTOP ลงทะเบียนใหม่/1 – 3 ดาว/Quadrant D) และการจัดตั้งศูนย์สัมมาชีพชุมชน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากปราชญ์ชุมชน

– สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ดำเนินการกิจกรรมส่งเสริมนวัตกรรมและการออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ โดยให้ความรู้ในด้านการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการสร้างสรรค์ออกแบบ สร้างแนวคิดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทผ้า กับตลาดเป้าหมาย และการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้า (Design & Logo & Packaging)

– สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน) ดำเนินการกิจกรรมพัฒนานักการตลาดและส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์หัตถกรรมสร้างสรรค์สู่สากล โดยดำเนินการจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมพัฒนานักการตลาดหัตถอุตสาหกรรม จัดอบรมความรู้ด้านการประกอบธุรกิจส่งออก และการค้าระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการจังหวัดลำพูน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดของผู้ประกอบการหัตถกรรมสร้างสรรค์จังหวัดลำพูน

 

ดังนั้นเพื่อให้สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดลำพูน เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน     ทั้งด้านราคา หรือเทคนิคการผลิตสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดผู้ประกอบการจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ต่อยอดจุดเด่นของสินค้า ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ออกมาเป็นสินค้าหัตถนวัตถกรรม อันทรงคุณค่า สามารถกำหนดทิศทางตั้งแต่กระบวนการต้นทาง กลางทางและปลายทาง เพื่อให้สามารถรับมือ     กับการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สินค้าในปัจจุบันต้องมีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้     ในระบบการตลาด ที่เปิดกว้างการพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาดในทุกระดับ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  ต้องมีการพัฒนาองค์กรให้มีความพร้อมในทุกด้าน ตั้งแต่การพัฒนาศักยภาพให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง การจัดการความรู้ และการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาสินค้าให้สร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าทางการตลาดตลอดจนการจัดการ      ด้านการตลาดในเชิงรุก เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่จังหวัด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น