ปี๋ใหม่เมืองลำปาง “งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมือง” 

 

จังหวัดลำปาง เทศบาลนครลำปาง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง ได้ร่วมกันจัดงาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมือง” ณ จังหวัดลำปาง  ระหว่างวันที่ 9 – 13 เมษายน 2561 ภายในงานมีกิจกรรมมากมายให้ได้สัมผัสกัน ไม่ว่าจะเป็น ชมการประกวดแข่งขันการตีกลองปู่จา ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 , การแสดงแสง สี เสียงและสื่อผสม  “สลุงหลวง ก๋องปู่จา ฮ่วมฮักษา ปี๋ใหม่เมือง” , การประกวดเทพบุตร เทพธิดาสลุงหลวง , พิธีอัญเชิญพระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้า , แกงฮังเลหลวง หม้อหลวงหรือหม้อยักษ์ และไฮไลต์ของงานกับขบวนแห่สลุงหลวงจากถนนสายวัฒนธรรมโดยช่างฟ้อนจำนวน 2561 คน มาร่วมกัน “ฟ้อนเล็บ” บริเวณห้าแยกหอนาฬิกา เพื่อต้อนรับองค์พระเจ้าแก้วมรกตและขบวนแห่สลุงหลวง ซึ่งจะเคลื่อนมาถึงพร้อมกัน ณ ข่วงนคร

 

งานนี้ “นายอนันต์  สีแดง” ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานลำปาง กล่าวว่า การจัดงานสลุงหลวง ถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่ 1 ปีมีเพียงครั้งเดียวที่นอกจากผู้มาเยือนจะได้ชม “ประเพณีแห่สลุงหลวง” โดย “สลุง” เป็นภาษาพื้นเมืองของชาวล้านนา หมายถึง ภาชนะใส่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ทำ ด้วยโลหะเงิน มีลักษณะเช่นเดียวกับขันน้ำ มีขนาดแตกต่างกันตามความต้องการใน การนำไปใช้สอย “หลวง” แปลว่า ใหญ่ “สลุงหลวง” จึงแปลว่า ภาชนะใส่น้ำใบใหญ่

 

“สลุงหลวง” ของชาวลำปาง ทำด้วยเงินหนัก 38 กิโลกรัม หรือ 2,533 บาท มีควาวกว้าง 89 เซนติเมตร สูง 49 เซนติเมตร ชาวลำปางได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์เป็น จำนวนถึง 432,398 บาท เพื่อจัดสร้างขึ้นในปี 2533 มีการจารึกภาษาพื้น เมืองล้านนา อยู่บนขอบด้านนอกของสลุงหลวง มีข้อความว่า “สลุงแก่นนี้จาวเมืองลำปางแป๋งต๋านไว้ใส่น้ำอบ น้ำหอม ขมิ้น ส้มป่อย สระสรง องค์พระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้า เวียงละกอนในวันปี๋ใหม่เมือง เพื่อค้ำจุนพระ ศาสนา ฮอดเติงห้าปันวรรษา” สะท้อนให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ในการจัดสร้าง สลุงหลวง เพื่อใช้เป็นภาชนะใส่ น้ำสรงพระแก้วมรกตดอนเต้า องค์พระศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน คู่ บ้านคู่เมืองลำปาง โดยจัดสร้างให้มีความใหญ่โต สมศักดิ์ศรีมีความแข็งแรง ทน ทาน สอดคล้องกับการใช้สอยในพิธีที่จัดขึ้น เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีของ ชุมชนชาวลำปาง และเป็นการรักษาวัฒนธรรมให้สืบไป และเพื่อเป็นการสร้างจุดเด่นและเอกลักษณ์ให้แก่เมืองลำปาง ให้เป็นสมบัติประจำเมือง โดยมีพิธีบายศรี สู่ขวัญสลุงหลวงเงินของชาวลำปาง ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2533

ต่อมาทางชมรมเทิดมรดกเขลางค์นคร ได้จัดสร้างฐานสลุง ทำด้วยไม้แกะสลักและ ประดิษฐ์เป็นรูปเทวดารอบๆ ฐานขึ้นอีก 6 องค์ ในปี 2534 ประกอบเป็นฐาน สูง ขนาด 91 เซนติเมตร กว้าง 80 เซนติเมตร บุด้วยเงินบริสุทธิ์ หนัก 1,500 บาท (23 กิโลกรัม) หุ้มโดยรอบ ทำให้ “สลุงหลวง” ที่ตั้งบนแท่นแลดู สง่างามเข้ากันเป็นอย่างดี ในปีเดียวกันชาวลำปางได้ร่วมกันบริจาคเงินสร้าง บังวันโลหะเงิน เป็นเครื่องประดับ “สลุงหลวง” อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งชาวลำปาง ภาคภูมิใจ

 

ในวันที่ 12 เมษายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้จัดพิธี “แห่สลุงหลวง” ขึ้นเพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชาวลำปางในช่วงเทศกาล “ปี๋ใหม่เมือง” (ประเพณีสงกรานต์ ) ซึ่งได้จัดต่อเนื่องกันมานานกว่า 20 ปี สืบทอดเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี อันดีงามในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในเทศกาลเถลิงศกใหม่ของชาวล้านนาที่เรียกว่า งานประเพณี “ปี๋ใหม่เมือง”

พร้อมกันนี้ นายอนันต์ สีแดง ยังขอเชิญชวนทุกท่านมาแอ่ว ปี๋ใหม่เมืองลำพูน “ถนนคนงามเมืองป่าซาง” ในวันที่ 15 เมษายน 2561 สัมผัสงานประเพณีวิถีคนยอง แต่งเมือง อู้ยอง รดน้ำแบบบ่าเก่า ชมวิถีป่าซางนำเสนอผ่านรูปขบวนแห่ต่าง ๆ ของแต่ละอำเภอ รวมไปถึงการแสดงออกของชาวป่าซาง ความสวยงามของวัฒนธรรมอำเภอป่าซาง ไม่ว่าจะผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น บทเพลงสาวป่าซาง  ที่มีการขับร้อง ของอาจารย์สุรพล สมบัติเจริญ หรือแม้แต่นางสาวป่าซาง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต วันนี้ “ป่าซาง” พร้อมแล้วที่จะคืนกลับมามีชื่อบนสื่ออีกครั้ง

 

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานลำปาง โทรศัพท์  054-222214 – 5 Email : tatlampang@tat.or.th หรือ Facebook Fanpage ททท.สำนักงานลำปาง

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น