ม.แม่โจ้ โชว์ผลงานพลิกโฉมมหาวิทยาลัย พร้อมเดินหน้าสู่ มหาวิทยาลัยกลุ่ม 2 พัฒนาต่อยอดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับนานาชาติ

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประธานในงานเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปี 2565 พร้อมทั้งให้การต้อนรับ ศาสตราจารย์พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และทีมงานจาก สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ในโอกาสที่เข้าเยี่ยมชม ผลการดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปี 2565 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ ไชยชนะ ฝ่ายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และโครงการพิเศษมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวรายงาน ณ อาคารศูนย์ส่งเสริมผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

มหาวิทยาลัยแม่โจ้มีเป้าหมายที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรอัจฉริยะ (Intelligent Agriculture) มีความพร้อมที่จะพัฒนาบุคลากร รวมถึงกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งมีการจัดการเรียนการสอนครอบคลุมหลายศาสตร์ ซึ่งเป็นฐานในการพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งมีความพร้อมพื้นฐานในด้านระบบนิเวศน์ นวัตกรรม การดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย จึงเป็นการพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้สู่ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ พัฒนาระบบบริหารจัดการมหาวิทยาลัยให้มีความพร้อมและศักยภาพสู่ในการเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม 2 สร้างเครือข่ายในการต่อยอดด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับนานาชาติ อีกทั้งยังยกระดับและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผู้ประกอบการ/SMEs ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่เข้าสู่ตลาด ซึ่งผลการดำเนินงาน ประจำปี 2565 ได้แก่

  • มีผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้าสู่ตลาด 23 ผลิตภัณฑ์
  • มีเครือข่ายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับนานาชาติ 5 เครือข่าย
  • ผลิตบุคลากร นักศึกษาและบัณฑิตผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะ 320 คน
  • มีผู้เชี่ยวชาญหรืออาจารย์พิเศษด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย 4 คน
  • สร้างระบบการบริหารจัดการที่ได้รับการยกระดับ 1 ระบบ
  • สร้างหลักสูตรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ 1 หลักสูตร
  • มี High Quality Engineer หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมฟาร์มอัจฉริยะและนวัตกรรมเกษตร (ต่อเนื่อง) 80 คน
  • มี Module สำหรับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะด้านกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต Short Course for Reskill Upskill/Module Credit Bank/สัมฤทธิบัตร 8 Module

เห็นได้ว่า การที่ได้รับการสนับสนุนจาก สป.อว. จึงเป็นการผลักดันและขับเคลื่อนให้เกิดการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยสู่การสร้างบัณฑิตผู้ประกอบการเศรษฐกิจสร้างคุณค่าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น