“ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค”ร่วมกับ“มูลนิธิรักษ์ไทย”ผนึกกำลังคนต้นน้ำเดินหน้าอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์สินค้าของซันโทรี่และเป๊ปซี่โคในประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ เพราะ “น้ำ” สำคัญยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และถือเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจของเรา บริษัทฯ จึงมุ่งมั่นดำเนินโครงการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรน้ำภายใต้พันธสัญญา “มิซุ โตะ อิคิรุ (Mizu To Ikiru)” หรือ “การอยู่ร่วมกับน้ำ” ผ่านความร่วมมือกับ มูลนิธิรักษ์ไทย และชุมชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้าสานต่อโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน ขยายผลต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
“ป่าต้นน้ำ” นอกจากจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติที่ช่วยรักษาความชุ่มชื้นและป้องกันความเสียหายของผืนป่าและหน้าดินแล้ว ยังถือเป็นจุดกำเนิดของสายน้ำที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตน้อยใหญ่ตลอดทั้งระบบนิเวศ ด้วยเหตุนี้ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย จึงได้ผนึกกำลังร่วมกับ มูลนิธิรักษ์ไทย รณรงค์อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ผ่านโครงการใน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยตั้งเป้าหมายอย่างต่อเนื่องที่จะฟื้นฟูระบบนิเวศของ ลุ่มน้ำแม่ศึก ซึ่งเป็นต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำแม่แจ่มและแม่น้ำปิง อันเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยาที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนไทยมาช้านาน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาพบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ศึกได้รับความเสียหายจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้เกิดการชะล้างหน้าดินและสภาพผืนป่ากลายเป็นภูเขาหัวโล้น อย่างไรก็ตาม ด้วยความมุ่งมั่นของ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ได้ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของคนในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนชุมชนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่ศึกสร้างฝายชะลอน้ำและซ่อมแซมฝายที่มีอยู่เดิมรวมทั้งสิ้น 1,639 ฝาย เพื่อช่วยลดการชะล้างพังทลายของดินและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่าต้นน้ำ และสนับสนุนการปลูกหญ้าแฝกเพื่อฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งปลูกไปได้มากกว่า 95 ไร่ อีกทั้งร่วมกับชุมชนปลูกต้นไม้เพิ่มเติมในพื้นที่แม่ศึกจำนวน 588 ไร่ และสร้างแนวกันไฟธรรมชาติมีความยาวรวมกว่า 40 กิโลเมตร เพื่อเป็นแนวตั้งรับในการดับไฟป่า พร้อมกันนี้ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ยังได้สนับสนุนงบประมาณสร้างระบบน้ำประปาภูเขาให้ 5 หมู่บ้าน และ 1 โรงเรียน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้เข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด
นายอชิต โจชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย มุ่งมั่นสานต่อพันธสัญญา“มิซุ โตะ อิคิรุ (Mizu To Ikiru)” หรือ “การอยู่ร่วมกับน้ำ” สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างรู้คุณค่าของน้ำ และดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในองค์รวมนับตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในรูปแบบต่างๆ และในหลากหลายพื้นที่ โดยโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำถือเป็นหนึ่งในโครงการที่เราให้ความสำคัญและผลักดันอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในปี 2564 เราได้สนับสนุนชุมชนแม่ศึกสร้างฝายเพิ่มเติมไปแล้วกว่า 197 ฝาย ปลูกหญ้าแฝกอีก 19 ไร่ และพัฒนาระบบน้ำสะอาดให้กับ 1 หมู่บ้าน ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และจะขยายผลโครงการไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป เพื่อเป็นการตอกย้ำวิสัยทัศน์องค์กร “เติบโตอย่างยั่งยืน” (Growing for Good)”
ด้าน นางสาวสุพรทิพย์ ช่วงรังษี กรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวเสริมว่า “มูลนิธิรักษ์ไทยมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำมาตั้งแต่ปี 2562 ในขณะเดียวกันมูลนิธิฯ เอง ตระหนักดีว่าการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำจะไม่สามารถส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างยั่งยืนได้ หากปราศจากความร่วมมือของคนในพื้นที่ จึงได้ทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่แม่ศึกมากกว่า 15,500 คน เพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งถือว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาได้พึ่งพา มูลนิธิฯ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือของคนในพื้นที่ ความเสียสละ ความเข้มแข็ง และความสามัคคีจะนำไปสู่การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำที่ยั่งยืน”
“ป่าต้นน้ำ เป็นหัวใจสำคัญของเรา เพราะเป็นแหล่งอาหารของคน เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ และเป็นต้นกำเนิดของน้ำ ป่าอยู่ได้ เราอยู่รอด ดีใจมากที่ทาง ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย เห็นถึงความสำคัญตรงนี้ ชาวบ้านกว่า 95 ครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมในโครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำของทางบริษัทฯ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจและทำให้พวกเราเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป” นายดวงจันทร์ ธรรมชาติมณี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ตำบลแม่ศึก เน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ
*ภาพประกอบถ่ายทั้งหมดถ่ายระหว่างปี 2019 ถึงต้นปี 2021