ม.แม่โจ้ ร่วมงานพิธีหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว “หอมแม่โจ้ 9” ชั้นพันธุ์คัด เตรียมเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ขยายส่งต่อเกษตรกร

วันที่ 5 ธันวาคม 2564 (วันมหามงคล) รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี ม.แม่โจ้ ผศ.พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ ผอ.สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร ม.แม่โจ้ พร้อมด้วย ผศ.ดร.วราภรณ์ แสงทอง ผู้ปรับปรุงพันธุ์ข้าว “หอมแม่โจ้ 9” และทีมงาน เข้าร่วมงานพิธีหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว “หอมแม่โจ้ 9” ชั้นพันธุ์คัด ซึ่งสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้จัดขึ้น โดยมี ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เป็นประธานในพิธี ทั้งนี้ มีตัวแทนจากกรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ นายกสมาคมผู้ส่งออก สมาคมโรงสีข้าว นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรกรไทย หน่วยงานเอกชน รวมทั้งผู้บริหารและสมาชิกของสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว มาร่วมเป็นเกียรติในงาน ณ ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิตและจิตวิญญาณชาวนาไทย – นาเฮียใช้ สมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

รศ.ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “พันธุ์ข้าว “หอมแม่โจ้ 9” เป็นผลงานการปรับปรุงพันธุ์ ของ ผศ.ดร.วราภรณ์ แสงทอง ผู้อำนวยการหน่วยความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์ข้าว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งมีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ทำให้ข้าวพันธุ์นี้มีคุณสมบัติการหุงต้มใกล้เคียงกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าหอม พื้นนุ่ม ต้นเตี้ย สามารถปลูกได้ทุกฤดู และความเป็นมาของงานในวันนี้
จากศักยภาพในการปรับปรุงพันธุ์ของหน่วยฯ ยังได้มีการคิดค้นและปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะเด่น เช่น การปรับปรุงให้ข้าวมีอายุเก็บเกี่ยวสั้นลง และมีผลผลิตสูง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นภาวะน้ำท่วม สภาวะแล้งได้ อีกทั้งมุ่งเน้นเพื่อช่วยให้การปลูกข้าวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในนาข้าว ปรับปรุงให้พันธุ์ข้าวมีความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว ได้ปรับปรุงให้ข้าวมีความหอม นุ่ม มุ่งเน้นคุณภาพการรับประทาน ทั้งหมดนี้เพื่อวัตถุประสงค์ให้ชาวนาไทย มีพันธุ์ข้าวที่หลากหลาย เป็นพันธุ์ทางเลือกที่ใช้ปลูกเพื่อการส่งออก สร้างรายได้ และบริโภคภายในประเทศ อีกทั้งยังโอกาสในการแข่งขันด้านคุณภาพ และราคาข้าวไทยในตลาดโลก

ความสำเร็จเหล่านี้เกิดจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนวิจัยของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือที่รู้จัก สวก. ที่ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัย เรื่อง แผนงานวิจัยที่มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการ ในการพัฒนาประเทศ กลุ่ม เรื่องข้าว (การปรับปรุงพันธุ์ข้าว) ให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีผลงานพันธุ์ข้าวเป็นที่ประจักษ์หลากหลายพันธุ์ การสนับสนุนดังกล่าวสามารถขับเคลื่อนในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง หนึ่งในนั้นคือ ข้าวพันธุ์หอมแม่โจ้ 9 ที่พร้อมจะเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านข้าว จะนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการผลิต การวิจัย และพัฒนาต่อยอด จนได้ข้าวพันธุ์ใหม่ เพื่อช่วยกันพัฒนาการส่งออกข้าวให้ยังคงความเป็นหนึ่งในตลาดโลกต่อไป”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น