NARITจับมือนำวิวัฒน์ยกระดับเทคโนโลยีวิศวกรรมดาราศาสตร์สู่นวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือ บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด ยกระดับเทคโนโลยีและวิศวกรรมดาราศาสตร์ขั้นสูง ถ่ายทอดองค์ความรู้ และพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร เพื่อร่วมกันออกแบบ พัฒนาผลงานทางวิศวกรรม สร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และนายวิโรจน์ ชัยเทอดเกียรติ ประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการออกแบบและสร้างผลงานทางวิศวกรรม
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ Covid-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่ มี.ค. 63 เป็นต้นมา สดร. ได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องช่วยหายใจต้นแบบเพื่อใช้ในยามจำเป็น เมื่อวิกฤตการณ์ Covid-19 รุนแรง จนกระทั่งขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วย ทีมวิศวกรและช่างเทคนิคของ สดร. ร่วมกันออกแบบและสร้างเครื่องช่วยหายใจต้นแบบได้สำเร็จ ทั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือและคำแนะนำจากทีมแพทย์โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ต่อมา สดร. ได้นำเสนอผลงานการออกแบบและสร้างเครื่องช่วยหายใจต่อคณะกรรมการภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ประกอบด้วยสมาชิกทั้งสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ เป็นเหตุให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ให้ความสนใจจะร่วมมือออกแบบและผลิตเครื่องช่วยหายใจในเชิงการค้า หนึ่งในนั้นคือ บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ภายในประเทศที่มีผลงานและประสบการณ์มานานกว่า 50 ปี
ความร่วมมือฯ ดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการข้อมูลการแพทย์และสุขภาพ พัฒนาขีดความสามารถวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ และความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ให้แม่นยำปลอดภัยสูงสุด เพื่อนำไปสู่การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับใช้งานกับผู้ป่วยและประชาชน
นอกจากนี้ ยังจะร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สมบูรณ์ พร้อมเข้าสู่กระบวนการเชิงพาณิชย์ รวมถึงจัดทำแผนควบคุม กำกับ ดูแล กระบวนการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีการทวนสอบผลิตภัณฑ์ ทดสอบ จัดทำเอกสารการทดสอบทางวิศวกรรม เอกสารโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวิศวกรรม รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญระหว่างทั้งสองหน่วยงาน
ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ สดร. จะเป็นหน่วยงานทางดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบันเรามุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมเป็นหลัก เนื่องจากการศึกษาดาราศาสตร์ในระดับที่ยากขึ้นไปต้องอาศัยความก้าวหน้าทางวิศวกรรม เพื่อสร้างอุปกรณ์เครื่องมือ ที่มีความละเอียดแม่นยำสูง สำหรับศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูล เช่นเดียวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต้องมีความเที่ยงตรง แม่นยำ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงเพื่อรักษาผู้ป่วย ดังนั้น จึงสามารถนำเทคโนโลยีดาราศาสตร์มาประยุกต์สู่อุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์ และเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทายความสามารถทางวิศวกรรมขั้นสูง ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องมือในภาคอุตสาหกรรม หรือสาขาอื่นๆ ต่อไป