“แม่โจ้ชวนยิ้ม ชิมกัญ(ชา)” สาธิตการนำชิ้นส่วนกัญชา ทั้งใบสด ต้น และรากปรุงเมนูอาหาร ต่อยอดงานวิจัยประเมินเป็นหลักเกณฑ์การนำไปใช้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดงาน “แม่โจ้ชวนยิ้ม ชิมกัญ(ชา)” สาธิตการนำชิ้นส่วนกัญชา ทั้งใบสด ต้น และรากปรุงเมนูอาหารรสเด็ดกว่า 40 ร้านดัง ร้านละ3เมนู ให้ชมและชิมฟรีตลอดงาน ต่อยอดงานวิจัยการใช้ประโยชน์ชิ้นส่วนกัญชานอกจากการแพทย์ หวังประเมินผลข้อมูลวางเป็นหลักเกณฑ์วิธีการนำไปใช้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย พร้อมวางเป้าเป็นจุดขายใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่

นายสำเริง  ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยดร.อำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันเปิดงานโครงการ “แม่โจ้ชวนยิ้ม ชิมกัญ(ชา)” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้จัดขึ้นเพื่อสาธิตการนำชิ้นส่วนกัญชา ได้แก่ ใบ ต้นและราก ที่ใช้ได้อย่างถูกกฎหมายมาปรุงอาหาร โดย มีร้านอาหารทุกระดับทั้งสตรีทฟู้ดส์และร้านอาหารชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ รอบๆเชียงใหม่ กทม.และจังหวัดอื่นๆ เข้าร่วมโครงการจำนวน45 ราย ได้สาธิตการปรุงอาหารและนำเสนอเมนูอาหารอย่างหลากหลายทั้งอาหาร ขนมและเครื่องดื่ม ให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชมการปรุงอาหารและชิมฟรีตลอดการจัดงาน โดยผู้ร่วมงานทุกคนจะสามารถเลือกรายการอาหารที่ตนเองสนใจได้เพียงห้ารายการ ซึ่งเป็นมาตรการการป้องกันอันตรายกับผู้บริโภคที่อาจมีอาการแพ้สารสำคัญในพืชกัญชาซึ่งแขกรับเชิญและประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ที่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมเพียง500คน ตามมาตรการสาธารณสุขในการป้องกันเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 บริเวณ โรงปลูกกัญชาทางการแพทย์ 16,700 ต้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้มหาวิทยาลัยแม่โจ้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ รับผิดชอบดำเนินการ เพื่อเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยจากโครงการปลูกและเก็บเกี่ยวกัญชาเพื่อทางการแพทย์ในระบบอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม ที่ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการที่จะนำชิ้นส่วนของกัญชานอกจากช่อดอกมาใช้ประโยชน์และทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยมีโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้นแบบในเรื่องการนำมาใช้ปรุงเป็นเมนูอาหาร และได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและยา(อย.)ด้วย ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นการทดสอบและทำให้ทราบถึงคุณสมบัติที่ดีของกัญชาในการนำมาใช้ปรุงอาหาร ตลอดจน เป็นการประเมินผลข้อมูลที่นำไปสู่การวางหลักเกณฑ์ ทั้งวิธีการและปริมาณการใช้ที่เหมาะสมเพื่อหน่วยงานรับผิดชอบจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎระเบียบตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการนั้น มีทุกระดับตั้งแต่ร้านอาหารตามสั่งในมหาวิทยาลัยแม่โจ้หรือสตรีทฟู้ดส์ทั่วไป,ร้านอาหารชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ และบริษัทเอกชนผู้ผลิตอาหารเครื่องดื่ม โดยทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้จะสนับสนุนใบกัญชาสดให้ร้านละ 200 กรัม พร้อมปริมาณแนะนำการใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารเฉลี่ยจานละ1ใบ รวมทั้งชิ้นส่วนของต้นและราก อีกจำนวนหนึ่งตามความเหมาะสมและตามสูตรอาหารของแต่ละร้าน เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารและนำเสนอเมนูอาหารอย่างหลากหลายทั้งอาหาร ขนมและเครื่องดื่ม โดยแต่ละร้านทำการปรุงร้านละ3เมนู ให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชมการปรุงอาหารและชิมฟรีด้วย ซึ่งการจัดงานครั้งนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย เพราะมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นแหล่งปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมายและมีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับจากผลงานวิจัย ที่พร้อมใช้ชิ้นส่วนของกัญชาสนับสนุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่อีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกันศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ กล่าวย้ำว่า แม้ว่าขณะนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขจะปลดล็อคให้ชิ้นส่วนกัญชาทั้งใบ ต้นและราก สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด อย่างไรก็ตามชิ้นส่วนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้นั้น ต้องนำมาจากแหล่งที่ผู้ปลูกได้รับการอนุญาตให้ปลูกถูกต้องตามกฎหมายด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วยังถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งหากมีการได้มาจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมายและถูกต้องตามกระบวนการก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้ เช่น นำไปใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นต้น ส่วนในกรณีถ้าหากมีผู้ประกอบการจะนำไปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม หรือเครื่องสำอาง เพื่อจำหน่ายนั้น จะต้องมีการแจ้งและขอนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น