20 – 23 ธันวาคมนี้ จับตา “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชวนติดตามปรากฏการณ์สำคัญ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี วันที่ 20 – 23 ธันวาคม 2563 มองด้วยตาเปล่าจะเห็นเสมือนเป็นดาวดวงเดียวกัน หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์สองดวงจะปรากฏอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน เป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก สดร. เตรียมจัดสังเกตการณ์ 4 จุดหลักที่ เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 20 – 23 ธันวาคม 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดี” เคียง “ดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี หรือ ปรากฏการณ์ “The Great Conjunction 2020” ช่วงคืนดังกล่าวดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์จะปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้า และจะเข้าใกล้กันที่สุดในวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ห่างเพียง 0.1 องศาเท่านั้น หากมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเสมือนเป็นจุดสว่างเพียงจุดเดียว และหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายไม่เกิน 200 เท่า จะเห็นดาวเคราะห์ทั้งสองพร้อมดวงจันทร์บริวารอยู่ในช่องมองภาพเดียวกัน เริ่มสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำหลังดวงอาทิตย์ตก ปรากฏสว่างเด่นเคียงคู่กันทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีเวลาสังเกตการณ์ประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนที่ดาวเคราะห์ทั้งสองจะลับขอบฟ้า
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์จะเกิดขึ้นในทุก 20 ปี แต่ครั้งนี้นับว่าเข้าใกล้ที่สุดในรอบกว่า 397 ปี หากพลาดโอกาสชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ ต้องรออีก 60 ปีข้างหน้า ดาวเคราะห์ทั้งสองจึงจะเข้ามาใกล้กันในระยะห่าง 0.1 องศาแบบนี้อีกครั้ง
สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีเคียงดาวเสาร์” ใกล้ที่สุดในรอบ 397 ปี หรือ “The Great Conjunction 2020” ระหว่างวันที่ 19 – 23 ธันวาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 18:00 – 22:00 น. ชวนชมผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร. 081-8854353 นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา โทร. 044-216254 ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา โทร. 038-589395 และ สงขลา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา โทร. 095-1450411 นอกจากนี้ ยังร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายดาราศาสตร์ที่ได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์ ในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์อีก 460 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบรายละเอียดได้ทาง http://bit.ly/MemberList-NARIT-DobsonianTelescope2020 ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมติดตามชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญในช่วงดังกล่าว สอบถามข้อมูลปรากฏการณ์และกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ 081-8854353 หรือ เพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย