นักศึกษาแพทย์มช. ชนะเลิศ การแข่งขันพัฒนาระบบ IT ระดับประเทศ
นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลชนะเลิศ Huawei Cloud Developer Contest 2020 ในงาน Powering Digital Thailand 2021 ซึ่งเป็นการแข่งขันการพัฒนาระบบโดยใช้เทคโนโลยีด้านสารสนเทศในการแก้ปัญหาในระดับประเทศ ในโครงการ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลและกระจายภาพสัญญาณชีพทางไกลผ่านระบบคลาวเพื่อการรักษาผู้ป่วยในหอผู้ป่วยหนัก ตามภารกิจด้าน Data Science ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ นศพ.สิริกร ชลานันต์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 และนศพ.ศุภกฤษดิ์ ท่านมุข นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6
โดย ผศ.ดร.นพ. ปิยพงษ์ คำริน อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มช.เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้เล่าถึงที่มาของรางวัลนี้ว่า “รางวัลชนะเลิศนี้เป็นรางวัลที่นักศึกษาแพทย์เข้าไปแข่งขันในส่วนของ Huawei Cloud Developer Contest 2020 ซึ่งในงานจะเป็นการแข่งขัน ในการพัฒนาระบบโดยใช้เทคโนโลยีของหัวเหว่ยบนคลาว ในการแก้ไขปัญหา จะเป็นปัญหาอะไรก็ได้ ซึ่งในงานจะเป็นปัญหาภาคธุรกิจ การคมนาคม การสื่อสาร การหางาน ทั้งหมดที่เข้าร่วมการแข่งขันได้ผ่านเข้ารอบจำนวน 6 ที่ด้วยกัน และหนึ่งในนั้นคือ นักศึกษาแพทย์ มช. สำหรับในส่วนที่นักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ส่งไป จะเป็นโครงการในการแก้ปัญหาทางการแพทย์ โดยใช้เทคโนโลยีของหัวเหว่ย จะเห็นได้ว่าการแก้ไข ปัญหาทางการแพทย์ในปัจจุบัน จะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ปัญหา เนื่องจากสามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและยุ่งยากได้อย่าง อย่างในโครงการนี้ จะสามารถถ่ายทอดสัญญาณชีพจากในห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน และห้องป่วยวิกฤติออกไปสู่แพทย์ในการดูแลผู้ป่วย จำเป็นที่จะต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการทำ ดังนั้นจะต้องอาศัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาการข้อมูล วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี มาประกอบกันในการที่จะทำให้ได้โซลูชั่นนี้ออกมา ปกติแล้วด้านวิทยาการข้อมูล และองค์ความรู้ด้าน การนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ (Data Science) ในการนำมาประกอบในการสร้างระบบเพื่อที่จะแก้ปัญหาทางการแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีในการนำมาช่วย ซึ่งนักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้ทักษะมาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
ด้าน นศพ.สิริกร ชลานันต์ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายว่า “สำหรับโจทย์ ในการแข่งขันในครั้งนี้ จะเป็นที่มาของปัญหา ซึ่งโดยปกติผู้ป่วยในหอผู้ป่วยหนักจะมีการติดตามดูสัญญาณชีพ ดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจอยู่ตลอดเวลา การที่ดูแลผู้ป่วยตลอดเวลาให้ทันท่วงที จะเกิดผลดีกับการวิเคราะห์ วินิจฉัย และการประเมินผู้ป่วย ซึ่งส่งผลต่อการรักษา ปัญหาคือแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ได้มีระบบดูแลติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วยทุกเตียงพร้อมกันได้ดีพอ จึงเป็นที่มาของการพยายามคิดหาวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งวิธีการเดิมที่มีเป็นแบบโซลูชั่น ที่ไปติดต่อบริษัท แล้วให้มาจัดการดึงข้อมูลแต่ละเตียง แต่ละจุดแล้วนำมารวมกันให้กับคอมพิวเตอร์กลาง ค่าใช้จ่ายจะค่อนข้างแพง เนื่องจากมีการมอนิเตอร์หลายจุดเนื่องจากคิดเป็นจุด แต่ละจุดรูปแบบการเก็บข้อมูลของโปรแกรมสำเร็จแต่ละโปรแกรม ของคอมพิวเตอร์ต่างกัน ยี่ห้อที่ใช้ต่างกัน เมื่อดึงสัญญาณมาอยู่ในหอผู้ป่วย หากมีอาจารย์แพทย์ที่อยากปรึกษา อยู่นอกหอผู้ป่วย หรือแพทย์เฉพาะทางที่อยากปรึกษาอาการเกี่ยวกับผู้ป่วยเหล่านี้ จะต้องถ่ายรูปส่งไป และรูปที่ถ่ายไม่ใช่รูปที่เรียลไทม์ เวลานั้นที่เกิดกับผู้ป่วย
แต่หากระบบที่ใช้มอนิเตอร์ ข้างเตียงผู้ป่วย ทำระบบให้เป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย โดยส่งข้อมูลตรงนี้ารับส่งสัญญาณ ถ่ายทอดไฟล์มัลติมีเดียทั้งภาพและเสียงผ่านเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ด้วยเทคนิคสตรีมมิ่งจะทำให้การวิดีโอทั้งหมดที่ถูกส่งผ่านอินเทอร์เน็ต มายังอุปกรณ์ที่รองรับบนคลาว แล้วสามารถล็อกอินผ่านมือถือเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือระบบปฏิบัติการหรือโปรแกรมของเรา เพื่อดูข้อมูลแบบเรียลไทม์ ของผู้ป่วยนั้นได้ ซึ่งในขณะนี้เป็นการสำเร็จขึ้นต้น ในระดับทดลอง หากจะนำมาใช้จริงต้องมีการทดสอบระบบก่อนว่ามีความเสถียรหรือไม่ ซึ่งจะเริ่มทดสอบพัฒนารอบแรก ICU ศัลยกรรม จำนวน 8 เตียง, Sub-ICU ศัลยกรรม จำนวน 10 เตียง และ ICU อายุรกรรม จำนวน 10 เตียง
และนศพ.ศุภกฤษดิ์ ท่านมุข นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายเพิ่มเติมว่า “เทคโนโลยีที่ทำเป็นส่วนเสริมให้การดูแลผู้ป่วยดียิ่งขึ้น เป็นการดูแลติดตามใกล้ชิด แค่มีสมาร์ทโฟนที่เข้าถึงได้ง่าย เนื่องจากเทคโนโลยีจะเป็นส่วนเติมเต็มให้แพทย์ได้ทันต่อยุคสมัยปัจจุบันโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ระบบคลาวอาจจะทำให้การเป็นแพทย์ของเราได้ทำงานง่ายยิ่งขึ้น การแข่งขันถือเป็นการเปิดมุมมองใหม่ เจอผู้คนต่างคณะ ต่างสถาบันทำให้เห็นมุมมองต่าง ๆ มากขึ้น ได้เห็นโลกกว้างว่าเทรนด์ ปัจจุบันเราควรมีทิศทางไปในทางไหน ควรปรับตัวให้เข้ากับปัจจุบันมากขึ้น”
โดยผศ.ดร.นพ. ปิยพงษ์ ได้สรุปว่า “นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีศักยภาพที่หลากหลาย อยู่ที่ว่าจะสนับสนุนในด้านใด นักศึกษามีทักษะมากขนาดไหน ในฐานะของอาจารย์ซึ่งเป็นตัวแทนของคณะฯ คิดว่าในส่วนของคณะแพทยฯ ควรที่จะสนับสนุนนักศึกษาแพทย์ในการที่จะต่อยอด พัฒนาทักษะในด้านที่มีความจำเป็น และสามารถทำคุณประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ไม่ใช่เฉพาะวิชาชีพแพทย์อย่างเดียว เรียนวิชาชีพแพทย์ บวกกับวิทยาการข้อมูล เพื่อให้นำวิชาชีพไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และสร้างสรรค์ผลงานได้ มีประสิทธิภาพได้ยิ่งขึ้น.”