สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุมกาแล็กซี ฟอรัม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2020 ประเทศไทย
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดการประชุมกาแล็กซี ฟอรัม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2020 ประเทศไทย (Galaxy Forum Southeast Asia 2020) จัดโดยศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก ดำเนินงานภายใต้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับสมาคมหอสังเกตการณ์ ดวงจันทร์นานาชาติ สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 3 มีนาคม 2563 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่
เวลา 09.15 น. วันที่ 3 มีนาคม 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งถึงอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร ตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และผู้แทนคณะกรรมการจัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ ภริยารองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้แทนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายพวงมาลัย จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินเข้าภายในอาคารนิทรรศการท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการ
เมื่อเสด็จเข้าภายในท้องฟ้าจำลอง ทรงประทับพระราชอาสน์ ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กราบบังคมทูลรายงาน ในการนี้ ทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุมกาแล็กซี ฟอรัม เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2020 ประเทศไทย และทรงร่วมฟังบรรยายพิเศษ จำนวน 3 หัวข้อ ได้แก่
1) “ภาพถ่ายหลุมดำภาพแรกในกาแล็กซี M87 จากกล้องโทรทรรศน์อีเวนต์ฮอไรซอนส์” โดย ดร. พอล โฮ ผู้อำนวยการหอดูดาวเอเชียตะวันออกและผู้อำนวยการกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เคลิร์ก แมกซ์เวลล์ หนึ่งในเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์อีเวนต์ฮอไรซอนส์ที่บันทึกภาพหลุมดำได้ครั้งแรกของโลก
2) “บทบาทของประเทศแถบเอเชียในการใช้ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือผลักดันนวัตกรรมล้ำหน้าในยุค 2020” โดย ดร. วิภู รุโจปการ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ / อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3) “การสร้างกล้องโทรทรรศน์บนดวงจันทร์” โดย สตีฟ เดิร์ส ผู้อำนวยการสมาคมหอสังเกตการณ์ดวงจันทร์นานาชาติ สหรัฐอเมริกา
หลังจบการบรรยาย เสด็จพระราชดำเนินออกจากห้องท้องฟ้าจำลอง ทอดพระเนตรนิทรรศการศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก เป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยภายใต้ยูเนสโก ประเภทที่ 2 แห่งแรก ในประเทศไทย และยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านดาราศาสตร์ระดับนานาชาติแห่งแรกของโลก ดำเนินงานโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตั้งอยู่ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในมติทวิภาคีและพหุภาคีระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การยูเนสโก ดำเนินการฝึกอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแก่ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ครู นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจ โดยอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญจากบุคลากรด้านดาราศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของไทยทั้งในและต่างประเทศ ในกำกับของ สดร. มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสาขาดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศ เน้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศสมาชิกขององค์การยูเนสโก เพื่อรังสรรค์สังคมให้เข้มแข็ง สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และ 17 หัวข้อการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่ต้องการพัฒนาประชาคมโลกให้ดียิ่งขึ้น
โอกาสนี้ สตีฟ เดิร์ส ผู้อำนวยการสมาคมหอสังเกตการณ์ดวงจันทร์นานาชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย แผ่นไม้แกะสลักตราสัญลักษณ์การจัดงาน และ รองศาสตราจารย์ ดร. พีรเดช ทองอำไพ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีพระหัตถ์ “กาแล็กซีแบบกังหัน (NGC 891)” ทรงบันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.0 เมตร ของ สดร. ที่ติดตั้ง ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อครั้งเสด็จฯ มาทรงเปิดอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรอย่างเป็นทางการ วันที่ 27 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา
หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการดาราศาสตร์แบบมีปฏิสัมพันธ์และเพนดูลัม บริเวณส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ชั้น 2 อาคารท้องฟ้าจำลองและนิทรรศการดาราศาสตร์ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร และเสด็จฯ ไปยังร้านอาหาร The Planet เสวยพระกระยาหารกลางวันที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดถวาย
เวลาประมาณ 13.00 น. เสด็จประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่งไปยังท่าอากาศยานกองบัญชาการกองทัพอากาศ เสด็จพระราชดำเนินกลับวังสระประทุม
สมาคมหอสังเกตการณ์ดวงจันทร์นานาชาติ สหรัฐอเมริกา (International Lunar Observatory Association: ILOA) เป็นองค์กรวิทยาศาสตร์ภาคเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ หมู่เกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา มุ่งหวังดำเนินการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ ณ ขั้วใต้ของดวงจันทร์ และพัฒนาการวิจัยดาราศาสตร์สู่ องค์ความรู้ใหม่โดยใช้ดวงจันทร์เป็นฐาน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นได้ โดยมีเป้าประสงค์สูงสุดในการขยายขอบเขตของมนุษยชาติในระบบสุริยะ ด้วยเทคโนโลยีของศตวรรษที่ 21
การประชุมกาแล็กซี ฟอรัม เป็นหนึ่งในกิจกรรมบริการวิชาการของ ILOA มุ่งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการศึกษาเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ การวิจัยด้านกาแล็กซี สะเต็มศึกษา และด้านอวกาศ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละประเทศที่ร่วมเป็นเจ้าภาพ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา ครูผู้สอน นักการศึกษา และประชาชนที่สนใจทั่วไป จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551 ณ ซิลิคอนแวลลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีการจัดการประชุมกาแล็กซี ฟอรัม มาแล้ว 96 ครั้งกว่า 26 ประเทศทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย เคยได้รับเกียรติจัดการประชุมดังกล่าวมาแล้วหนึ่งครั้ง โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพมหานคร