สดร. ร่วมฉลองเทศกาลแห่งความสุขผ่าน “ต้นคริสต์มาสแห่งเอกภพ”
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสส่งความสุขจากห้วงอวกาศ ด้วยภาพ “เนบิวลาคริสต์มาสแห่งเอกภพ” เนบิวลาสีแดงขนาดใหญ่เกิดจากแก๊สไฮโดรเจนในอวกาศ ประดับด้วยลูกบอลสีฟ้าแวววาวจากแสงของดาวฤกษ์เกิดใหม่และเนบิวลาขนสุนัขจิ้งจอก หนึ่งในผลงานจากกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ของ สดร. ณ หอดูดาวสปริงบรูค ประเทศออสเตรเลีย
“NGC 2264” เป็นชื่อเรียกรวม ๆ ของวัตถุในภาพ ประกอบด้วย เนบิวลาแบบเรืองแสง (Emission Nebula) และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน เป็นกระจุกดาวอายุน้อยและมีความสว่างมาก อยู่ในกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros) ห่างจากโลกประมาณ 2,600 ปีแสง แสงสีแดงในภาพเกิดจากไฮโดรเจนในอวกาศดูดซับพลังงานจากดาวฤกษ์รอบ ๆ แล้วปลดปล่อยแสงออกมาในช่วงคลื่นเฉพาะ เรียกว่า “ไฮโดรเจนแอลฟา” เนบิวลานี้จึงมีสีแดงสว่างโดดเด่น เรียกเนบิวลาประเภทนี้ว่า “เนบิวลาเรืองแสง” ลักษณะการเรียงตัวของกระจุกดาว มีดาวสว่างสีฟ้าและสีขาวเรียงเป็นรูปสามเหลี่ยม คล้ายต้นคริสต์มาส จึงเรียกว่า “กระจุกดาวต้นคริสต์มาส (Christmas Tree Cluster)” มีดาวแปรแสงชื่อ “เอส โมโนซีโรทิส (S Monocerotis)” หรือ “15 โมโนซีโรทิส (15 Monocerotis)” อยู่ในตำแหน่งลำต้น ขณะที่ดาวแปรแสงอีกดวงหนึ่งเป็นดาวยักษ์สีน้ำเงินชื่อ “V429 โมโนซีโรทิส (V429 Monocerotis)” อยู่ในตำแหน่งยอดต้นไม้
เหนือขึ้นไปเป็น “เนบิวลารูปกรวย (Cone Nebula)” เป็นเนบิวลามืดสีแดงคล้ำ คือก้อนแก๊สและฝุ่นในอวกาศที่มีอุณหภูมิต่ำ ดูดซับแสงเรืองของดวงดาวและเนบิวลาที่อยู่ฉากหลังจึงมีสีคล้ำกว่า กว้างประมาณ 7 ปีแสง โครงสร้างดังกล่าวมีลักษณะคล้าย “เสาแห่งการกำเนิด (Pillar of Creation)” ในบริเวณ “เนบิวลานกอินทรี (Eagle Nebula หรือ M16)” บริเวณกลุ่มดาวงู (Serpens) ส่วนปลายมีกระจุกดาวเปิดกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยดาวฤกษ์อายุน้อยแต่สว่างเรียงตัวในรูปแบบคล้ายผลึกหิมะ บางครั้งจึงเรียกว่า “กระจุกดาวเกล็ดหิมะ (Snowflake Cluster)” นอกจากนี้ บริเวณกลุ่มแก๊สสีฟ้าด้านล่างของภาพ มีกลุ่มแก๊สสีแดงที่รูปร่างแปลกประหลาดกว่าโดยรอบ จึงมีชื่อเล่นว่า “เนบิวลาขนสุนัขจิ้งจอก (Fox Fur Nebula)” ประหนึ่งเป็นวัตถุประดับฐานต้นคริสต์มาสอีกด้วย