ปภ. ร่วมกับ UNOCHA จำลองเหตุการณ์แผ่นดินไหว ฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุที่จังหวัดเชียงใหม่
ปภ.กระทรวงการต่างประเทศ และ UNOCHA ฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำลองเกิดเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยกระดับการพัฒนาศักยภาพ USAR Team ของไทย ให้เป็นไปตามมาตรฐาน INSARAG
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชีย–แปซิฟิก (UNOCHA-ROAP) กระทรวงการต่างประเทศ และจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดให้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำลองเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหวระดับรุนแรงที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยฝึกซ้อมแผนตามสถานการณ์จำลอง แบ่งการฝึกซ้อมเป็น 3 ระยะ บ่ายวันนี้เป็นการฝึกซ้อมระยะที่ 1 เป็นการแจ้งเตือนเหตุแผ่นดินไหวและสรุปสถานการณ์ รวมถึงการเคลื่อนย้ายกำลังพลเพื่อตอบโต้สถานการณ์ โดยมีการซ้อมแผนทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติ และจะมีการซ้อมแผนอีก 2 ระยะ ในวันที่ 16-17 ธันวาคมนี้
การฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุครั้งนี้ เป็นการฝึกซ้อมแผนตามบทบาทหน้าที่ ตามมาตรฐานการค้นหาและกู้ภัยระหว่างประเทศ ทั้งในการเตรียมแผนระดับจังหวัด และระดับประเทศ เพื่อทดสอบการตอบโต้เหตุการณ์ฉุกเฉินระดับชาติของประเทศไทย ในด้านประสานการรับความช่วยเหลือ ด้านมนุษยธรรมจากต่างประเทศ โดยจำลองเหตุการณ์การเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูด ระดับความลึก 10 กิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง อาคารและสิ่งสาธารณประโยชน์พังถล่ม ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เป็นสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง เกินกว่าศักยภาพของประเทศจะรับมือ จำเป็นต้องร้องขอความช่วยเหลือการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ และอุปกรณ์จากต่างประเทศ โดยมีทีมค้นหาและกู้ภัยในเมือง (USAR Team) ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ และหน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติในประเทศไทยและประเทศสมาชิกภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เข้าร่วมฝึกซ้อมแผน กว่า 400 คน
นอกจากนี้ ยังเป็นการทดสอบการตอบโต้เหตุการณ์ฉุกเฉินระดับชาติของประเทศไทย ในด้านประสานการรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากต่างประเทศ เมื่อเกิดสาธารณภัยร้ายแรง และมุ่งพัฒนาศักยภาพของทีมค้นหาและกู้ภัยในเขตเมืองของประเทศไทย ให้มีความพร้อมในการเข้ารับการประเมินศักยภาพเป็นทีมขนาดกลางตามมาตรฐาน INSARAG ในปี พ.ศ.2564