สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นคร เชียงใหม่ส่งรถกระทงเข้าร่วมในงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี 2562
สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นคร เชียงใหม่ ได้ร่วมงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ.2562 โดยได้รับความร่วมมือจากชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ตลอดจนโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ราชภัฏเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งรถกระทงเข้าร่วมในงานประเพณีเดือนยี่เป็งเชียงใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2562
รถขบวนกระทงในครั้งนี้ได้นำเสนอถึงเรื่องราวของงานประเพณีเทศกาลญี่ปุ่น ซึ่งปกติจะจัดขึ้นในโอกาสต่างๆเช่นเพื่อเป็นการระลึกและขอบคุณต่อเทพเจ้าและดวงวิญาณบรรพบุรุษที่ได้ดลบันดาลให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตผู้คนมีสุขภาพแข็งแรงตลอดจนความร่มเย็น
โดยทั่วไปแล้วในงานเทศกาลมักจะประกอบไปด้วย “ศาลเจ้า”สถานที่สถิตของเทพเจ้าควบคู่กับ “ประตูแดงโทริ” สัญลักษณ์บ่งบอกถึงอาณาเขตขัณฑสีมาอันศักดิ์สิทธิ์จากโลกภายนอก “กลองไทโคะ” เครื่องดนตรีโบราณที่สร้างความครึกครื้นเรียกความฮึกเหิมช่วยให้ผู้ที่ได้ชมมีแรงกายแรงใจในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ “โคมไฟ” ผลงานศิลปะหัตถกรรมจากวัสดุพื้นบ้านที่ใส่จิตวิญญาณแห่งความเคารพบูชาและความศรัทธาลงไปซึ่งมักถูกนำมาใช้ในงานเทศกาลอย่างกว้างขวาง ต้นโคม “คันโตโชชิน” (บริเวณด้านหลังรถจำนวน 2 ต้น) เป็นการจำลองจากรวงข้าวเพื่อใช้ในเทศกาลแสดงความขอบคุณและขอพรต่อเทพเจ้าที่ดลบันดาลให้มีผลผลิตอุดมสมบูรณ์
บริเวณด้านหน้าตัวรถสองข้างประกอบไปด้วย “ซาจิโฮโกะ” เทพแห่งฟ้าฝน หรือพยัคฆ์มัสยาสัตว์ในตำนานที่มีหัวเป็นเสือตัวเป็นปลาสามารถเรียกฝน มักถูกประดิษฐ์ไว้บนหลังคาประสาทเพื่อป้องกันอัคคีภัย
เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูและเจตคติอันดีต่อชาวล้านนาและดินแดนแห่งนี้ ที่ซึ่งชาวญี่ปุ่นได้อาศัยอยู่ จึงได้จำลองต้นโคม “คันโตโชชิน” และ “ซาจิโฮโกะ” เพื่อดลบันดาลให้ผู้คนและดินแดนล้านนาแห่งนี้มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ เจริญรุ่งเรืองและร่มเย็นตลอดไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโคมไฟญี่ปุ่นและไทยผลงานศิลปะหัตถกรรมอันงดงามที่ถูกสืบทอดกันมาอย่างช้านาน ที่ได้นำมาประดับบนขบวนรถกระทงนี้ได้สื่อถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่น บ่งบอกถึงความ สง่างามทางวัฒนธรรมอันโดดเด่นของญี่ปุ่นและ เชียงใหม่ นครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม