สดร. จัดงานเสวนา “ไขปริศนา…สิ่งมีชีวิตนอกโลก”

เมื่อวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2562 – สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม จัดงานเสวนาดาราศาสตร์ “Are we alone in the universe : ไขปริศนา…สิ่งมีชีวิตนอกโลก” ประชาชนไทยเทศแห่ร่วมงานคับคั่งทั้งกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ตอบโจทย์สร้างสาระความรู้ กระตุ้นแรงบันดาลใจใฝ่รู้ดาราศาสตร์ทุกเพศวัย

งานเสวนา “Are we alone in the universe?: ไขปริศนา…สิ่งมีชีวิตนอกโลก” มีผู้ร่วมเสวนาที่คร่ำหวอดในแวดวงดาราศาสตร์ ได้แก่ ดร.แอนดริว ซีเมียน (Dr. Andrew Siemion) ผู้อำนวยการสถาบันด้านการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่รู้จักกันในชื่อ เซติ (SETI – the Search for Extra-Terrestrial Intelligence) ศาสตราจารย์ไมเคิล แกเร็ต (Prof. Michael Garett) ผู้อำนวยการสถาบันกล้องโทรทรรศน์วิทยุโจเดรลล์แบงค์ (the Jodrell Bank Centre for Astrophysics) หนึ่งในกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ติดตามสัญญาณจากนอกโลก พร้อมด้วย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หน่วยงานด้านพัฒนาเทคโนโยลีดาราศาสตร์ของไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมตั้งคำถามในประเด็นต่างๆ อาทิ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นในเอกภพอีกหรือไม่? ปัจจุบันพบสัญญาณสิ่งมีชีวิตทรงภูมิในเอกภพหรือยัง? การค้นพบนี้จะนำไปสู่อะไร? และประเทศไทยจะได้อะไรจากการเข้าร่วมค้นหานี้? ซึ่งวิทยากรได้ให้คำตอบกันอย่างเข้มข้น
สดร. จัดงานเสวนาดังกล่าว ที่กรุงเทพฯ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 6 True Digital Park สุขุมวิท 101 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมี คุณพัชรี รักษาวงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ท่ามกลางบรรยากาศสากล สุดทันสมัยใจกลางกรุงเทพฯ ขณะที่เชียงใหม่ จัดงานเสวนาฯ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ สำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ดำเนินรายการโดยคุณสุทธิชัย หยุ่น ในบรรยากาศเป็นกันเองใต้มวลหมู่ดาว และยังมีกิจกรรมพิเศษชมดวงจันทร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์อีกด้วย โดยทั้งสองสถานที่ใช้การบรรยายในรูปแบบภาษาอังกฤษ และมีบริการหูฟังแปลภาษา ทำให้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามรวมกว่าห้าร้อยคน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีทุกเพศวัย ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ต่างรับฟังการบรรยายอย่างตั้งใจและเพลิดเพลินไปกับกิจกรรม สร้างแรงบันดาลใจใฝ่รู้ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น