สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ประจำพระองค์ “ต้นรวงผึ้ง”
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 มิถุนายน 2562 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ประจำพระองค์ “ต้นรวงผึ้ง” เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมี นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกส่วน ทั้งตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ นักเรียน นักศึกษา เจ้าหน้าที่ สวพส. รวมทั้งนักท่องเที่ยว และประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมใจกันปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 168 ต้น บริเวณด้านข้างหอคำหลวง
? นอกจากนั้นนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมยังจะได้ ปลูกหญ้าแฝก บริเวณศูนย์จำลององค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริฯ เพื่อให้นักเรียนได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่ทรงเป็นผู้ริเริ่มการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมในประเทศไทย รวมทั้งได้รู้จักและเรียนรู้ประโยชน์ของหญ้าแฝกตามแนวทางการปลูกหญ้าแฝกเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำอีกด้วย
?“ต้นรวงผึ้ง” ไม้หอมพื้นถิ่น เป็นพรรณไม้ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี เนื่องด้วยดอกรวงผึ้งมีสีเหลือง ซึ่งเป็นสีวันเสด็จพระราชสมภพ อีกทั้งจะผลิดอกบานสะพรั่งในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งตรงกับเดือนพระราชสมภพของพระองค์ อีกทั้ง “ต้นไม้” ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ และแผ่กิ่งก้านสาขาให้ ความร่มเย็น เฉกเช่นพระบารมีอันแผ่ไพศาลของพระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงปกปักษ์รักษาราชอาณาจักรและพสกนิกรชาวไทยให้ได้รับความผาสุกร่มเย็นทั่วกัน
➡️ สำหรับ ประโยชน์ของต้นรวงผึ้งนั้น นิยมใช้เป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม เนื่องจากทรงพุ่มสวย ดอกสีเหลืองเข้มบานพร้อมกันทั้งต้น ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ตลอดทั้งวัน ระยะเวลาดอกบานประมาณ 7-10 วัน/ครั้ง/ปี “ต้นรวงผึ้ง” ที่ปลูกในครั้งนี้ มีจำนวน 168 ต้น ขนาด 1-2 เมตร คาดว่าจะออกดอกบานสะพรั่งให้นักท่องเที่ยวได้ชมอีกประมาณ 3-4 ปี และจะเป็นพื้นที่ที่รวบรวมต้นรวงผึ้งไว้มากที่สุดอีกจุดหนึ่งของประเทศไทย นอกจากนั้นการปลูกต้นไม้ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว อันเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย
?และในช่วงบ่ายยังมีกิจกรรมการฟังเสวนา หัวข้อ “สัญลักษณ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิชญา สุ่มจินดา อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเสวนาหัวข้อ “ประทับไว้ในความทรงจำกับประสบการณ์สี่วันแห่งพระราชพิธี” โดย หม่อมราชวงศ์ปิยฉัตร ฉัตรชัย ผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ ห้องกัลปพฤกษ์ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่