ลำปาง…เมืองรองที่ต้องมาลอง…..แอ่วลำปางม่วนแต้หนา

การเดินทางครั้งนี้ของเราเริ่มต้นจาก กิ่วฝิ่น จุดชมวิวทิวทัศน์ของเขตผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ของ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง และ ลำพูน ในอดีตจุดนี้เคยเป็นที่พักของคาราวานพ่อค้าฝิ่น กิ่วฝิ่นสูงจากระดับน้ำทะเล 1,517 เมตร ในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิบนยอดจึงอาจลดลงเหลือเพียง 3-4 องศาเซลเซียส  ตามทางขึ้นมีสนสามใบขึ้นทั่วไป จากกิ่วฝิ่นเราจะได้ตื่นตาตื่นใจกับสายหมอกขาวที่ปกคลุมทั่วหุบดอย จนนึกว่ากำลังยืนอยู่ในความฝัน ช่วงหน้าฝนเป็นฤดูกาลที่น่าออกไปเที่ยว เพราะป่าเขาจะเขียวขจี อากาศสดชื่นเย็นสบาย ถ้าโชคดีก็จะได้เห็นวิวของทะเลหมอกอันงดงามอีกด้วย และ เหมาะแก่การไปเที่ยวพักผ่อน ซึ่งต้องบอกว่าที่นี่สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

สำหรับที่พัก บนดอยกิ่วฝิ่นจะไม่มีบ้านพักไว้รองรับนักท่องเที่ยว แต่สามารถที่จะติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานเพื่อกางเต็นท์ได้ หรือหากต้องการจะสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนสามารถที่จะเดินทางต่อไปยังบ้านป่าเหมี้ยง Slow Life ใจร่มๆ ณ บ้านป่าเหมี้ยงหมู่บ้านเล็กๆ ที่ซุกตัวอยู่หลังทิวเขาในอ้อมกอดของผืนป่า ผู้คนหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยลมหายใจแห่งความสุขและวิถีชีวิตพอเพียง ด้วยการประกอบอาชีพเก็บใบชาป่า ซึ่งนำมาแปรรูปเป็นของกินเล่นของคนภาคเหนือที่เรียกว่า “เหมี้ยง” หรือ “เหมี้ยง” ในภาษากลาง จนเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านป่าเหมี้ยง”

ททท.สำนักงานลำปาง อยากชวนคุณมาเที่ยว! ทดลองเก็บใบเหมี้ยง ชิมอาหารพื้นบ้านแสนอร่อย พักผ่อนในบรรยากาศธรรมชาติอันเย็นฉ่ำของผืนป่า แล้วดื่มด่ำความสุขแบบช้าๆ ให้เต็มอิ่ม

เส้นทางสู่บ้านป่าเหมี้ยงใช้ทางหลวงหมายเลข 1252 ตัดผ่านผืนป่าอันหนาทึบของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน สองข้างทางมีหญ้าดอกขาวปลิวไหวตามแรงลม ก่อนถึงหมู่บ้านจะผ่านลานดอกเสี้ยว ซึ่งดอกไม้นี้จะบานสะพรั่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ที่นี่จึงเป็นที่มาของการจัดงานเทศกาลวันดอกเสี้ยวบาน

ที่บ้านป่าเหมี้ยงมีโฮมสเตย์ให้พักหลายหลัง จัดการโดยคนในชุมชน ซึ่งต้องติดต่อมาล่วงหน้า เมื่อจัดแจงนำสัมภาระเข้าเก็บในบ้านแล้วชาวบ้านจะชวนสมาชิกเดินชมบรรยากาศหมู่บ้าน ความที่ตั้งอยู่เกือบใจกลางอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ที่นี่จึงร่มรื่นด้วยพรรณไม้หลากหลายชนิด ตั้งแต่ไม้น้ำเล็กๆ ที่พลิ้วไหวอยู่ในลำธารไหลเย็นไปจนถึงไม้ใหญ่ขนาด 10 คนโอบ ผืนป่ารอบบ้านป่าเหมี้ยงจัดเป็นป่าต้นน้ำระดับ 1-A ของแม่น้ำวัง ซึ่งได้รับการอนุรักษ์จากชาวบ้านในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะการทำเหมี้ยงต้องอาศัยร่มไม้ใหญ่ค่อนข้างหนาทึบในป่าดิบเขา ที่ความสูงระดับ 900-1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล และระบบรากของเหมี้ยงต้องรับอาหารและแร่ธาตุผ่านไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) เชื้อราชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงระบบรากของต้นไม้ในป่า ดังนั้นการที่ชาวบ้านดูแลรักษาป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ก็เท่ากับเป็นการทำนุบำรุงแหล่งผลิตรายได้ของชุมชน

กิจกรรมสำคัญเมื่อนักท่องเที่ยวมาเยือนที่นี่คือการเที่ยวป่าเหมี้ยง เจ้าของสวนจะนำไปพร้อมอุปกรณ์ครบมือ ไล่ไปตั้งแต่ “ส่า” หรือตะกร้าขนาดพอเหมาะสำหรับใส่ใบเหมี้ยงสะพายอยู่บนบ่า มีตอกเส้นเรียวบางเอาไว้มัดเหมี้ยง มีดพร้าสำหรับฟันวัชพืช และ “ปอก” (หรือปลอก) ซึ่งทำจากแผ่นสังกะสีม้วนคล้ายแหวนใส่ที่ปลายนิ้ว ที่ปลายติดใบมีดโกนไว้ ใช้เก็บใบเหมี้ยง รวมทั้ง “ขอ” ซึ่งเป็นเชือกยาวที่ปลายเชือกติดตะขอไม้ใช้โน้มต้นที่สูงให้ต่ำลงจะได้เก็บง่ายขึ้น

เหมี้ยงที่นี่ไม่ใช่เมี่ยงคำ-ของกินเล่นที่เราคุ้นเคย แต่เหมี้ยงแห่งนี้คือชาพันธุ์อัสสัม ซึ่งเติบโตในป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ อากาศหนาวเย็นและความชื้นสูง ชาวบ้านทำเหมี้ยงสืบต่อกันมาเกือบ 200 ปี ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ฤดูกาลเก็บเหมี้ยงเริ่มตั้งแต่เข้าหน้าฝนไปจนหมดหน้าหนาว ราวเดือนพฤษภาคมจนถึงกุมภาพันธ์

การเก็บเหมี้ยงไม่ใช่เด็ดทั้งใบ แต่ให้ตัดโดยเว้นก้านใบเอาไว้ เพื่อให้ใบเหมี้ยงได้หายใจ ไม่อย่างนั้นต้นจะไม่แตกยอด เน้นเก็บยอดสามใบแรกเท่านั้น  แม้วิถีของเหมี้ยงคือลมหายใจของที่นี่ แต่น่าเสียดายที่ลมหายใจนี้กำลังแผ่วลงไปทุกที ด้วยปัจจุบันเหมี้ยงไม่ค่อยเป็นที่นิยมอย่างที่ผ่านมา ชาวบ้านจึงนำพลับและกาแฟพันธุ์อะราบริก้าจุดเด่นของชุมชนป่าเหมี้ยงที่สำคัญ คือ การทำเหมี้ยง เริ่มจากขั้นตอนการใส่ใบเหมี้ยงที่นึ่งแล้วเรียงลงเป็นแถววงกลมในถัง เติมน้ำเปล่าแล้วหมักไว้ 20 วันถึง 1 เดือนขึ้นอยู่กับความอ่อนความแก่ของเหมี้ยง จากนั้นนำขึ้นมาทุบเพื่อให้นุ่ม มัดส่งขายไปทั่วจังหวัดในภาคเหนือ  ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนอายุ 40 ปีขึ้นที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมการกินเหมี้ยงมาแต่ดั้งเดิม นิยมอมเล่นเวลาหลังอาหารหรือทำงาน เพราะจะช่วยให้กระชุ่มกระชวย ไม่ง่วงนอน เรียกกันเล่นๆ ว่าเป็น “โอเล่ดอย” ที่อยากจะให้ลองหยิบเหมี้ยงหนึ่งคำเข้าปาก รับรองรสชาติสุดจะบรรยาย ทั้งเปรี้ยว หวาน และฝาด หากไม่ลองจะรู้ได้ไง!

สำหรับของที่ระลึกจากชุมชนแห่งนี้นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีหมอนใบชาเพื่อสุขภาพ ด้วยการนำใบเหมี้ยงแก่แห้งทำเป็นหมอนสีหวาน ภายใต้แบรนด์ “หมอนดอกเหมี้ยงหอมไก๋” หรือ หอมไกล มีหลายแบบให้เลือก ทั้งหมอนทรงธรรมดาไปจนถึงหมอนเล็กใช้แขวนในตู้เสื้อผ้า  กลิ่นใบเหมี้ยงหรือใบชามีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายความเครียดและช่วยให้หลับสบาย  มีของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้านแล้ว ที่นี่ยังมีสิ่งที่ต้องลอง หากไม่ได้ลองแสดงว่ายังไม่ถึงป่าเหมี้ยง นั่นก็คือเมนูเด็ดต้องห้ามพลาดอย่างยำใบเหมี้ยงที่มีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า ปัจจุบันกลายเป็นเมนูเด็ดที่จัดต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยการเด็ดใบอ่อนปานกลางไม่ขมไม่แข็งเกินไป นำไปล้างแล้วซอยละเอียด ซอยหอมใหญ่ มะเขือเทศหั่นลูกเต๋า พริกขี้หนูซอยละเอียด กระเทียมสับละเอียดที่เจียวจนเหลืองหอม ลงคลุกเคล้า แล้วบีบมะนาว เติมน้ำปลา จากนั้นเทปลากระป๋องคลุกเคล้าให้เข้ากัน เพียงเท่านี้ก็จ๊าดลำ กับเมนูจานเด็ดน้ำพริกเห็ดหอมสด และไส้อั่วอร่อยเหาะอย่าบอกใครเชียว

จุดหมายต่อไปในเส้นทางนี้ คือลานดอกเสี้ยว แล้วดอกเสี้ยว ดอกอะไร แล้วทำไมถึงต้องมาดู  ต้นเสี้ยวเป็นไม้ป่าพื้นเมือง มีดอกสีขาว 5 กลีบ กลีบใหญ่จะมีแต้มสีชมพู พบได้ตามเขตภูเขาสูง ส่วนมากจะเป็นภาคเหนือ แต่ที่ป่าเหมี้ยงแห่งนี้ถือเป็นแหล่งที่มีต้นเสี้ยวขึ้นตามธรรมชาติมากที่สุด

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน  มีธารน้ำแร่ ที่เต็มไปด้วยโขดหินธรรมชาติ ที่สวยงามแทรกกอยู่ท่ามกลางแอ่งน้ำร้อน น้ำแร่ที่มีอุณหภูมิสูง ถึง 70 – 80 องศาเซลเซียส สามารถแช่ไข่ให้สุกได้ภายใน 15 นาที ไข่จะมีลักษณะไข่แดงสุกไข่ขาวสุกไม่แข็งจะ เหมือนมะพร้าวอ่อน เมื่อนำมาปรุงเป็น “ ยำไข่แช่น้ำแร่ ” ซึ่งเป็นเมนูอาหารถิ่นที่ ททท.นำเสอนมาตั้งแต่ ๒๕๕๘ อร่อยยิ่งนัก

ณ แจ้ซ้อนแห่งนี้มีธารน้ำ จากน้ำตกแจ้ซ้อนไหลมาบรรจบกับธารน้ำร้อน จากน้ำแร่ กลายเป็นธารน้ำอุ่น ทางอุทยานฯ ได้สร้างที่อาบน้ำแร่มาตรฐานเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เป็นอุทยานที่ได้รับรางวัล “อุทยานแห่งชาติดีเด่นประจำปี 2543 ” ตามที่ กรมป่าไม้ได้จัดงานวัน สถาปนากรมป่าไม้ ครบรอบ 104 ปี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2543 โดยได้จัดประกวดอุทยานแห่งชาติ ดีเด่นด้านการ ท่องเที่ยวประจำปี 2543 และรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Tourism Awards) ปี 2543 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติยอดเยี่ยม ในด้านการออกแบบ สิ่งอำนวยความ สะดวกใน อุทยานฯ ได้อย่าง กลมกลืนกับธรรมชาติแล้ว มาที่นี่ที่เดียวเที่ยวได้ตลอดปี

อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีจุดบริการต่างๆ ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ดังนี้
1. ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 
สำหรับให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอุทยานฯ ตลอดจน ให้คำแนะนำต่างๆแก่นักท่องเที่ยว
2. ห้องอาบน้ำแร่ 
จัดไว้บริการ 3 รูปแบบ คือ ห้องแช่ส่วนตัว จำนวน 41 ห้อง ห้องแช่รวม 1 ห้อง และยังได้จัดสระน้ำแร่ กลางแจ้ง ทั้ง 3 รูปแบบจัดไว้บริการ นักท่องเที่ยวทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. และในวันหยุดเปิดบริการ ตั้งแต่ 06.00 – 19.00 น. นอกจากนี้ยังมีนวดแผนโบราณ ไว้บริการสำหรับนักท่อง เที่ยวที่สนใจอีกด้วย
อัตราค่าบริการ
1. ห้องอาบน้ำแร่แบบแช่ส่วนตัว ผู้ใหญ่ 50 บาท/คน เด็ก 20 บาท/คน
2. ห้องอาบน้ำแร่แบบแช่รวม ผู้ใหญ่ 20 บาท/คน เด็ก 10 บาท/คน
3. ห้องอาบน้ำแร่แบบสระกลางแจ้ง คนละ 10 บาท
3. บ้านพักนักท่องเที่ยว ที่จัดสร้างอยู่บนเนินเขา สามารถนำรถยนต์เข้าถึงได้ มีทั้งสิ้นจำนวน 13 หลัง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทั้งสิ้น 70 คน (ราคาห้องละ 1,200-3,600 บาท)
4. ค่ายพักแรมและแคมป์ไฟ สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเป็นคณะใหญ่ๆ โดยมีค่ายพักแรม จำนวน 2 หลัง สามารถ
รองรับนักท่องเที่ยว ได้จำนวน 80 คน (ราคาห้องละ 2,000 บาท)
5. สถานที่กางเต็นท์ มีเต็นท์และเครื่องนอนไว้คอยบริการสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด

อุทยานฯแจ้ซ้อนได้จัดสร้างฐานสำหรับกาง เต็นท์ไว้เป็นจุดๆ มีทางเดินเชื่อมต่อถึงกันในแต่ละฐาน มีปลั๊กไฟ เตาปิกนิก ถัง ขยะ ที่ล้างจาน และห้องน้ำ ที่จัดสร้างให้กลมกลืนกับธรรมชาติ อัตราค่าบริการที่ กางเต็นท์ 30 บาท/คน/คืน สำหรับ อัตราค่าบริการอยู่ระหว่าง 250-800 บาท ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ เช่น

รายการที่
– เต็นท์ ขนาด 3 คน ราคา 250 บาท/คืน
– เต็นท์โดม ขนาด 5 คน ราคา 400 บาท/คืน
– เต็นท์เคบิน ขนาด 6 คน ราคา 500 บาท/คืน
– เต็นท์ค่าย ขนาด 6 คน ราคา 500 บาท/คืน
แต่ละประเภทจะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอน ที่รองนอน ถุงนอน และชุดสนาม

รายการที่
– เต็นท์ ขนาด 2 คน ราคา 400 บาท/คืน
– เต็นท์โดม ขนาด 4 คน ราคา 800 บาท/คืน
– เต็นท์เคบิน ขนาด 4 คน ราคา 800 บาท/คืน
– เต็นท์ค่าย ขนาด 4 คน ราคา 800 บาท/คืน

แต่ละประเภทจะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอนใหญ่ ที่นอน ผ่าห่ม และชุดสนามกรณีที่นำเต็นท์ไปกาง เอง ต้องเสียค่าบริการสถานที่ 30 บาท/คน/คืน หากไม่มีเครื่องนอนก็ใช้บริการเครื่องนอนและอุปกรณ์สนามของอุทยานฯ มีอัตราค่าบริการเครื่องนอนกรณีนำเต็นท์ไปเอง มีดังนี้

1) ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอน ถุงนอน ที่รองนอน และชุดสนาม ราคา 150 บาท/ชุด/คืน

2) ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอนใหญ่ ที่นอน ผ่าห่ม และชุดสนาม ราคา 200 บาท/ชุด/คืน
6. ร้านค้าสวัสดิการ ของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ที่มีอาหารและเครื่องดื่มไว้คอย บริการ โดยจะต้องสั่งจองล่วงหน้ากับทางอุทยานฯ นอกจากนี้ยังมีร้านค้าเล็กๆ อีก ประมาณ 30 ร้าน ที่ให้บริการด้านอาหาร
ซึ่งทาง อุทยานฯได้ควบคุมดูแลความสะอาดให้ ถูกหลักอนามัย
7. สโมสร ไว้สำหรับประชุมสัมมนา หรือ ทำกิจกรรมต่างๆ โดยสโมสรนี้สามารถ จุคนได้ประมาณ 100 คน 3 ห้อง (1600/วัน)

การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

  1. รถยนต์ส่วนตัว
    – จากสนามกีฬาประจำจังหวัดไปตามถนนสายลำปาง-ห้างฉัตร (สายเก่า) เลี้ยวขวาที่สามแยกบ้านน้ำโท้งไป ตามถนนสาย1157 เส้นลำปาง-ห้วยเป้ง-เมืองปาน ไปประมาณ 55 กิโลเมตร เลี้ยวขวาเข้าถนนสาย 1287 เมืองปาน-แจ้ห่ม ไปประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย 1252 เส้นข่วงกอม-ปางแฟง อีก 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้า อุทยานฯไปตามถนน รพช. อีก 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
    – จากตัวเมืองลำปางไปตามทางหลวงหมายเลข 1035 เส้นลำปาง-แจ้ห่ม ไปจนถึงประมาณกิโลเมตรที่ 58 เลี้ยว ซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1287 ซึ่งเป็นทางเข้าไปอำเภอเมืองปาน แล้วเลี้ยวขวาที่สามแยก ใช้ทางหลวง หมายเลข1252 เส้น ข่วงกอม-ปางแฟน ป่ระมาณ 11กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานฯ ตามถนน รพช. อีก 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ
    – เส้นทางจากจังหวัดเชียงใหม่ ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1006 ผ่านอำเภอสันกำแพง แล้วเข้าสู่ถนนสาน ถ้วยแก้วบ้านแม่กำปอง ผ่านบ้านป่าเหมี้ยง ถึงที่ทำการอุทยานฯ
    2.รถโดยสารประจำทาง 
    มีคิวรถโดยสารประจำทางสายลำปาง-แจ้ซ้อนถึงที่ทำการอุทยานฯ อยู่บริเวณถนนตลาดเก่า ราคา 50 บาท ออกจากลำปางเวลา 08.00-18.00 น. หรือเหมารถประมาณ 350 บาท

วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ หรือชื่อเดิมเรียกว่า“วัดพระพุทธบาทปู่ผาแดง” ซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง สิ่งที่โดดเด่นของวัดนี้จนทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง คือ ภาพอันงดงามของเจดีย์เล็กๆสีขาวสร้างขึ้นบนภูเขาสูงเสียดฟ้า ล้อมรอบไปด้วยทิวเขาสูง ซึ่งสร้างจากแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชน เป็นภาพที่ดึงดูดให้ใครหลายคนอยากเดินทางไปสัมผัส วัดเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งอยู่บนภูเขาใหญ่ใน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง อยู่ในพื้นที่ของเขต ห้ามล่าสัตว์ป่าดอยพระบาท บนยอดเขาแห่งนี้มีรอยพระพุทธบาท ประดิษฐานอยู่ เป็นที่เคารพบูชาของชาว อ.แจ้ห่ม มาอย่างยาวนาน แต่เมื่อก่อนนี้ยังไม่มีการทำถนนขึ้นสู่ดอยดังนั้นพุทธศาสนิกชน ผู้ศรัทธาจึงต้องเดิน เท้าผ่านป่าทึบและหน้าผาสูงขึ้นไปสักการบูชา รอยพระพุทธบาทแห่งนี้  ต่อมาหลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล  (พระเทพวิสุทธิญาณ) เจ้าอาวาสวัดอนาลโยทิพยาราม จังหวัดพะเยาได้เดินทาง มาสักการะรอยพระพุทธบาทโดยการเดินเท้า พลังศรัทธาของท่านเป็นที่มาของ การสร้างวัดขึ้น ประกอบกับในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระราชสมภพครบ 200 ปี เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2547 ทางคณะสงฆ์จึงมีมติให้สร้างวัดเฉลิมพระเกียรติ แด่พระองค์ท่านเพื่อน้อมรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อ ปวงชนชาวไทย จึงได้สร้าง “วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้า ราชานุสรณ์”  ที่ตำบลวิเชตนคร อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางขึ้น

ภายในบริเวณวัดด้านล่าง เป็นที่ตั้งของตัว“วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ เป็นที่ตั้งของอุโบสถและเจดีย์ เราสามารถ เข้าไป กราบพระพุทธรูปภายในอุโบสถที่จำลองมาจากพระนิรันตราย ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปประจำ พระองค์ของรัชกาลที่ 4 องค์หนึ่ง ส่วนตัวอุโบสถมีลักษณะเหมือนวัดทางล้านนา มีหลังคาลดหลั่นสองชั้น และมีสิงห์คู่ยืนเฝ้าอยู่บริเวณทางเข้าสู่ลานอุโบสถ วัดที่อยู่บน ยอดเขา ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนของเจดีย์ที่สร้างรายล้อมอยู่บนเขา ซึ่งต้องนั่งรถผ่านเส้นทางลาดชัน และแคบ ไปประมาณ 30นาที จากนั้น เดินทางขึ้นบันไดไปอีกประมาณ 300 กว่าขั้น

เมื่อขึ้นมาถึงยอดเขาด้านบน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือฝั่งทางขวาจะได้ขึ้นไปนมัสการองค์พระธาตุ ซึ่งต้องเดินขึ้นบันไดเล็กๆ ชันๆ ขึ้นไป แต่วิวด้านบนนั้นงดงามเป็นอย่างยิ่ง มองเห็นทิวทัศน์ของอำเภอแจ้ห่ม และมองเห็นบริเวณวัดวัดเฉลิมพระเกียรติฯ ที่อยู่ด้านล่าง และอีกส่วนคือ ฝั่งซ้ายเรียกว่าศาลาสวดมนต์ จุดนี้ไม่ได้มีพระสงฆ์จำวัดอยู่ แต่จะเป็นสถานที่ที่พระจะขึ้นมาสวดมนต์ทุกวันแรม 8 ค่ำ บนศาลาสวดมนต์จะมีพระพุทธรูปประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้กัน อีกทั้งยังเป็นจุดชมวิวที่งดงามอีกหนึ่งจุดมองไป เบื้องหน้าเป็นวิวของอำเภอแจ้ห่ม มองไปด้านหลังเป็นเจดีย์องค์เล็กองค์น้อยประดิษฐานอยู่บนยอดภูเขาราวกับมีคนจับวาง

เมื่อมองไปทางขวาจะเห็นเป็นวิวขององค์พระธาตุสีทองบนยอดเขา และหากมองมาทางซ้ายจะเห็นเจดีย์สีขาว 5 องค์อยู่ริมชะง่อนผา หินไกลๆ มองแล้วก็ต้องทึ่งว่าใครหนอช่างมีความพยายามไปสร้างเจดีย์ไว้ในที่ที่แม้แต่เดินตัวเปล่าก็ยังยากลำบากแต่ด้วยแรงศรัทธา ของ มนุษย์ก็สามารถทำเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ให้เกิดขึ้นได้อย่างน่ามหัศจรรย์

สำหรับคนที่อยากจะขึ้นไปชมบรรยากาศของตัววัดบริเวณชั้นบนต้องจอดรถไว้ที่ลานจอดรถเพราะไม่อนุญาติให้นำรถส่วนตัวขึ้นไป ต้องใช้บริการรถท้องถิ่นของชาวบ้าน ซึ่งจุดจอดรถจะอยุ่ที่ลานจอดรถของวัก  โดยคิดสำนาค่าบริการแบบไปกลับคนละ 60 บาท เมื่อมาถึงจุดเดินทางก็เดินขึ้นไปสู่ยอดเขาซึ่งเป็นบันได ประมาณ 300 กว่าขั้น  ระยะทาง 1 กม. ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ควรเตรียมน้ำ ให้พร้อม รถจะเริ่มให้บริการประมาณ 7 โมงเช้า

จากตัวเมืองลำปางใช้ทางหลวงหมายเลข 1035 ไปแจ้ห่ม จากตัวเมืองแจ้ห่มเลยไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตรเศษๆ จะมีทางแยกซ้ายมือ อยู่ตรงทางโค้งพอดี ซุ้มประตูเขียนว่าเข้าหมู่บ้านใหม่เหล่ายาว ให้เลี้ยวเข้าไปประมาณ 200 เมตร จะมีแยกซ้ายมือเขียนว่าไป วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นทางคอนกรีตอย่างดีไปจนถึงวัด จะมีป้ายว่า วัดพระพุทธบาทปู่ผาแดงซึ่งเป็นชื่อเดิม ระหว่างทางจะเห็นแนว เขาสูงตระหง่าน โดยมองเห็นพระเจดีย์สีขาวหลายองค์บนยอดเขา ซึ่งมีลักษณะเป็นหน้าผาสูง

แม่แจ๋ม หมู่บ้านกลางหุบเขาที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติ หมู่บ้านแม่แจ๋มตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เป็นหมู่บ้านที่ถือว่ายังคงใหม่มากสำหรับการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปาง ภายในหมู่บ้านจะมีอัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยวหลายอย่างที่น่าสนใจและพร้อมจะให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชม ทั้งทางด้านธรรมชาติ และศิลปะวัฒนธรรม

เริ่มต้น ชิลล์ ชิลล์ ด้วยการไปชมไร่กาแฟที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดกาแฟระดับโลกเลยทีเดียว โดยไร่กาแฟนี้จะตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลพอสมควรและมีพื้นที่โดยรอบเป็นป่าเขาที่ห้อมล้อมไร่กาแฟเอาไว้ ด้านบนไร่กาแฟจะมีโรงคั่วกาแฟที่ชาวบ้านใช้งานอยู่เป็นประจำทุกวันและมีการสาธิตการดริปกาแฟให้นักท่องเที่ยวได้ชิมแบบสดๆ จากโรงคั่วด้วย กาแฟมีรสชาติเข้มข้นและหอมกว่าที่อื่นอย่างเห็นได้ชัด ใครที่ชอบทานกาแฟห้ามพลาด

หลังจากนั้นถึงคิวชมสวนพริกหยวก และไร่สตรอเบอร์รี่ ซึ่งในช่วงนี้สตรอเบอร์รี่ยังคงพอมีให้ได้ชมและชิม ท่ามกลางขุนเขา

ณ บ้านแม่แจ๋ม แห่งนี้มีจุดท่องเที่ยวอันซีนแห่งใหม่ของเมืองลำปางนั่นก็คือกิ่วหิน ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวเปิดใหม่อีกหนึ่งปลายทางฝันที่เพิ่งจะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิวธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก สามารถเดินไปชมวิวสองข้างทางที่เต็มไปด้วยทะเลภูเขาได้แบบพาโนรามา แต่ต้องระวังกันด้วยเพราะทางเดินบางช่วงจะต้องปีนป่ายโขดหินเพื่อขึ้นไปชมวิว แต่รับรองว่าเมื่อเดินไปถึงสุดทางชมวิวแล้ว มีธรรมชาติที่สวยงามรออยู่แน่นอน

นี่คืออีกหนึ่งเส้นทางเลือกเมื่อมาเยือนลำปางปลายทางฝัน…….ทริปสุดม่วนเมื่อมาลำปาง…เมืองรองที่ต้องมาลอง…..แอ่วลำปางม่วนแต้หนา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น