อาจารย์แพทย์ มช. ผ่าตัดย้ายเส้นประสาทส่วนปลายในผู้ป่วยอัมพาต แขนและมือจากไขสันหลังบาดเจ็บ ให้กลับมาใช้งานได้ปกติ สำเร็จเป็นแห่งแรกในประเทศไทย

อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการวิจัยการผ่าตัดย้ายเส้นประสาทส่วนปลายในผู้ป่วยอัมพาต จากไขสันหลังบาดเจ็บในระดับคอ จนประสบความสำเร็จ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Hand Surgery American ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำระดับโลก โดยได้รับพิจารณาจากทีมบรรณาธิการให้เป็นเรื่องเด่น (Editor’s Choice)

รศ.นพ.คณิตศ์ สนั่นพาณิช อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โทปิดิกส์ เปิดเผยว่าตนได้ศึกษาค้นคว้าโครงการวิจัยขั้นตอนแรกจากการศึกษาของร่างอาจารย์ใหญ่ ทางกายวิภาคของการย้ายเส้นประสาทเพื่อเลือกการจับคู่ระหว่างแขนงเส้นประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อเบรเคียลิส (Brachialis) หรือเส้นประสาทเลี้ยงกล้ามเนื้อกระดกข้อมือขึ้นของเส้นประสาทเรเดียล(Radial nerve) ไปยังเส้นประสาทแอนทีเรียร์อินเตอร์ออสเซียส (Anterior interosseous nerve) หรือแขนงเส้นประสาทอัลน่าสั่งการงอนิ้ว จนพัฒนาค้นคว้าไปสู่ โครงการวิจัยการผ่าตัดย้ายเส้นประสาทส่วนปลายในผู้ป่วยอัมพาต จากไขสันหลังบาดเจ็บในระดับคอ   โดยทางทีมศัลยแพทย์ทางมือ ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ในการทำการวิจัยการผ่าตัดย้ายเส้นประสาทส่วนปลายในผู้ป่วยอัมพาต จากไขสันหลังบาดเจ็บในระดับคอ โดยทำการวิจัยในผู้ป่วย 3 ราย เป็นระยะเวลา 4 ปี โดยกลุ่มผู้ป่วยที่พิจารณาเข้ารับการผ่าตัดนี้ จะต้องเป็นผู้ป่วยรอคอยการฟื้นตัวการทำงานของระบบประสาท ซึ่งมักเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรกหลังอุบัติเหตุ จากนั้นการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นน้อยมาก และมักจะไม่มีการฟื้นเพิ่มอีกหลังจากการบาดเจ็บ 2 ปี อย่างไรก็ตามคนไข้ส่วนหนึ่งที่ไม่มีการฟื้นตัวของระบบประสาทเลย พบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้อยากให้มือกลับมาใช้งานได้ใหม่สูงเป็นอันดับแรก ซึ่งแม้ขาหรือการทำงานอื่นๆ ก็ไม่สำคัญเท่าเทียมกับการทำงานของมือ จึงมีการผ่าตัดเพื่อฟื้นการทำงานของมือ โดยจะมีการประเมินว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ ไหล่ขยับได้ดี ข้อศอกขยับได้บ้าง งอศอกได้ แต่เหยียดศอกไม่ได้ และมือไม่ขยับเลย จะได้รับการพิจารณาให้มีการผ่าตัด

ด้าน รศ.นพ.สยาม ทองประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แพทย์ผู้ร่วมวิจัย เปิดเผยว่าผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลังระดับคอกลุ่มนี้ จะประสบปัญหาอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ การสั่งการทำงานของไขสันหลัง กล้ามเนื้อ การรับความรู้สึก และประสาทอัตโนมัติ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีปัญหาในเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อแขนและมือ ทำให้ยากต่อการดำเนินชีวิตในประจำวัน เป็นผู้ป่วยที่น่าสงสารและรักษายากที่สุดกลุ่มหนึ่ง เพราะเป็นอัมพาตทั้งแขนและขา นอกจากนี้จะไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะของตนเองได้ จำเป็นต้องสวนปัสสาวะโดยผู้อื่น ไม่มีความรู้สึกที่ผิวหนัง มีอุณหภูมิและการไหลเวียนของเลือดในช่วงตัวและขาน้อยกว่าปกติ จึงเกิดแผลกดทับ ได้ง่ายกว่าคนปกติมาก ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และจำเป็นต้องมีคนดูแลช่วยเหลืออยู่เสมอ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเกิดโรคซึมเศร้าเพราะไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์จิรชาติ ไกรศรินท์ อาจารย์ประจำภาควิชาออร์โทปิดิกส์ เปิดเผยว่า  ในอดีตที่ผ่านมา การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาศัยการผ่าตัดย้ายเส้นเอ็นหลายๆตำแหน่ง ร่วมกับการเชื่อมข้อต่อ ซึ่งมักจะมีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ และต้องใส่เฝือกหลังการผ่าตัด ทำให้การผ่าตัดไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากดูแลหลังผ่าตัดยุ่งยาก และต้องทำการผ่าตัดหลายขั้นตอน การวิจัยในครั้งนี้เป็นการหาวิธีการรักษาแบบใหม่โดยใช้การผ่าตัดจุลศัลยกรรมเส้นประสาท ทำให้การผ่าตัดย้ายเส้นประสาทส่วนปลาย เข้ามาทดแทนวิธีการผ่าตัดย้ายเส้นเอ็น โดยทำการผ่าตัดย้ายเส้นประสาทแก้ไขการทำงานของแขนและมือทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 4 ตำแหน่ง รวมทั้งหมด 8 ตำแหน่ง ในการผ่าตัดครั้งเดียว ซึ่งได้เริ่มทำการวิจัยในปี พ.ศ. 2557 และนำมารักษาผ่าตัดจริงในปี พ.ศ. 2558 ถือเป็นการผ่าตัดแห่งแรกในโลกที่ทำถึง 4 ตำแหน่ง (มีการผ่าตัดแบบนี้โดยผ่าตัดข้างละ 3 ตำแหน่ง ในอเมริกา บราซิล และ ออสเตรเลีย ไม่เคยมีในทวีปเอเชีย) ข้อดีคือไม่ต้องผ่ตัดทีละหลายๆครั้ง หลังการผ่าตัด 10 เดือนจะเริ่มมีการขยับมือได้บ้าง แต่ไม่ได้ชัดมากถึงขั้นใช้งานได้ทันที การใช้งานจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อปีครึ่ง สามารถเขียนหนังสือ ถักไหมพรม จับช้อน แก้วน้ำ ได้เอง โดยไม่ต้องมีคนช่วย สามารถเปลี่ยนการดำเนินชีวิตจากเดิมที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดเวลา ให้กลับมาช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น

ทั้งนี้ถือได้ว่าผลการวิจัยถือเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Hand Surgery American และได้รับพิจารณาจากทีมบรรณาธิการ ให้เป็นเรื่องเด่น (Editor’s Choice) โดยหวังว่าองค์ความรู้นี้จะสามารถนำมามาช่วยผู้ป่วยในประเทศไทยได้มากขึ้น และบทความที่เผยแพร่ออกไป จะสามารถนำไปใช้ช่วยผู้ป่วยอัมพาต จากไขสันหลังบาดเจ็บในระดับคอ ได้ทั่วโลก.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น