แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 4 ปี 2561

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือไตรมาส 4 ปี 2561 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทย รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นทั้งด้านผลผลิตและราคา ผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวตามผลผลิตหมวดอาหาร เครื่องดื่ม และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในด้านอุปสงค์ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อยจากการบริโภคสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันและการใช้จ่ายเพื่อซื้อรถยนต์ การลงทุนภาคเอกชนลดลงจากการลงทุนก่อสร้าง การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวทั้งรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อทั่วติดลบเล็กน้อยตามการลดลงของราคาอาหารสดเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำและชะลอลงจากไตรมาสก่อน

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

รายได้เกษตรกร ขยายตัวต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 จากระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งด้านผลผลิตและราคา ด้านผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญขยายตัวร้อยละ 7.1 ตามผลผลิตข้าว อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ด้านราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 โดยราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ขณะที่ราคาสุกรและมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตลดลง

ผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 10.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนสำคัญจากการผลิตหมวดอาหารขยายตัวตามวัตถุดิบภาคเกษตรและอุปสงค์ต่างประเทศในสินค้าประเภทผักและผลไม้แปรรูป การผลิตหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวในสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในยานยนต์ และการผลิตหมวดเครื่องดื่มขยายตัวสูง อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดเลนส์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ สิ่งทอ อโลหะ และเครื่องหนัง หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน

ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวดีโดยเฉพาะในช่วงปลายปีจากนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว และต่างชาติอื่นขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งฮ่องกง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เอเชียอื่นๆ และยุโรป รวมทั้งนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น เครื่องชี้การท่องเที่ยวสำคัญทุกรายการเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานในภาคเหนือ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าอากาศยานเชียงใหม่ และอัตราการเข้าพักแรมในภาคเหนือ

การบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน การใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันฟื้นตัวได้ต่อเนื่องและปรับดีขึ้นหลายหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อซื้อยานยนต์ยังขยายตัวดี สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นทั้งยอดจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เชิงพาณิชย์ และรถจักยานยนต์

การใช้จ่ายภาครัฐ รายจ่ายรวมลดลงร้อยละ 17.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน รายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 28.2 ตามการลดลงของการใช้จ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เป็นผลจากโครงการก่อสร้างบางส่วนล่าช้า ประกอบกับการใช้จ่ายงบกลุ่มจังหวัดต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายหมวดครุภัณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขลดลง เพราะได้รับจัดสรรงบประมาณน้อยกว่าปีก่อน ด้านรายจ่ายประจำลดลงร้อยละ 8.0 ตามการลดลงของการใช้จ่ายในหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน การลงทุนก่อสร้างลดลงโดยเฉพาะบ้านเดี่ยว อาคารพาณิชย์ อพาร์ทเม้นและแฟลต และอาคารชุด เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัว ได้แก่ ยอดคงค้างสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดใหม่ จำนวนยูนิตที่ขออนุญาตจัดสรรที่ดิน และภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดก่อสร้าง ด้านการลงทุนผลิตเพิ่มขึ้นสะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนของธุรกิจผลิตเพื่อส่งออกลดลงเล็กน้อยโดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

การค้าผ่านด่านศุลกากรชายแดนในภาคเหนือ มูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 10.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนสำคัญจากการส่งออกยางพาราลดลงมากเพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า การส่งออกรถยนต์ส่งออกไปประเทศเมียนมาลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2560 เนื่องจากทางการ    เมียนมาเข้มงวดการนำเข้า การส่งออกสินค้ากลุ่มอื่นๆ เช่น เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกลการเกษตรหดตัวเล็กน้อยตามการอ่อนตัวของค่าเงินจ๊าต มูลค่านำเข้าในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ตามการนำเข้าไฟฟ้าจากลาวเป็นสำคัญ รวมทั้งการนำเข้าโคกระบือและเศษเหล็กที่ใช้แล้วจากประเทศเมียนมาเพิ่มขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ตามการลดลงของราคาผลไม้สดและผักสดเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.2 อัตราการว่างงานปรับฤดูกาลอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ตามการจ้างงานในภาคเกษตรขยายตัว ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงโดยเฉพาะในภาคค้าส่งค้าปลีก ภาคการผลิต ภาคก่อสร้าง และโรงแรมและภัตตาคาร

ภาคการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2561 สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือมียอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ 617,518 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการปรับเปลี่ยนการลงบัญชีของสินเชื่อบางประเภทมาอยู่ในภูมิภาค ทั้งนี้ สินเชื่อที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบุคคลอื่น ส่วนสินเชื่อภาคธุรกิจยังขยายตัวได้ในหลายธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ก่อสร้าง และขนส่ง สำหรับสินเชื่อค้าปลีกค้าส่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านเงินฝากมียอดคงค้าง 686,147 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ในส่วนของเงินฝากออมทรัพย์จากความต้องการฝากเงินพักไว้ชั่วคราวเพื่อใช้โอนชำระเงิน ขณะที่เงินฝากกระแสรายวันและเงินฝากประจำยังลดลง ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 90.0

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น