OTOP Backstreet Academy เส้นทางที่ 5 เรียนรู้ภูมิปัญญาอำเภอแม่แจ่ม
อำเภอแม่แจ่มหรือ “เมืองแจ๋ม” นั้นแต่เดิมเรียกกันว่า “เมืองแจม” คำว่า “แจม” เป็นภาษาลัวะแปลว่า มีน้อย ไม่พอเพียง หรือขาดแคลน ต่อมาเมื่อกลุ่มคนไท-ยวน (ไต) มาอยู่ จึงเรียกชื่อตามสำเนียงไท-ยวนว่า “เมืองแจ๋ม” และเพี้ยนเป็นเมืองแจ่มหรือ “แม่แจ่ม” อันเป็นนามมงคล หมายถึงให้เมืองนี้เป็นเมืองแห่งความแจ่มใส ลบความหมายของคำว่า “แจม”
เมื่อเอ่ยถึงอำเภอแม่แจ่ม หลายคนจะคิดถึงผ้าตีนจก อำเภอแม่แจ่มถือได้ว่าเป็นชุมชนหนึ่งที่มีการทอผ้าซิ่นตีนจกกันมากที่สุด ผ้าทอของแม่แจ่มมีเอกลักษณ์ในการทอหรือจกในลักษณะการคว่ำลาย ทำให้ลวดลายที่ได้สวยงาม ปราณีตเฉพาะแบบไม่เหมือนใคร ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มยังถือเป็นศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นล้านนาที่สืบทอดเป็นมรดกทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมโดยงานนี้ทางสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ ได้พาคณะมาเยี่ยมชมยังบ้านท้องฝาย ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม เป็นหมู่บ้านที่ยังคงรักษาวิถีแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีแบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยมี “การทอผ้าซิ่นตีนจก” เป็นมรดกอันทรงคุณค่า บ้านแทบทุกหลังในหมู่บ้าน ล้วนมี “กี่ทอผ้า” ตั้งอยู่ใต้ถุนบ้าน ซึ่งแต่ก่อนนั้นชาวบ้านท้องฝายจะทอผ้าแต่ละผืนของตนเองอย่างอิสระ จนเมื่อไม่นานมานี้ ชาวบ้านได้ร่วมแรงกันจัดตั้งกลุ่มทอผ้าซิ่นตีนจกขึ้น โดยยังคงไว้ซึ่งกรรมวิธีแบบดั้งเดิม แต่แทรกลวดลายให้วิจิตรงดงามยิ่งขึ้น มีการแปรรูปผ้าทอผืนงามไปเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ จนทำให้ผ้าซิ่นตีนจกของบ้านท้องฝายเริ่มกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน อย่างมากมาย
สำหรับการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น นายพรชัย กรรณิกา ผู้ใหญ่บ้าน ได้แบ่งฐานการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของหมู่บ้านออกเป็นฐานๆ เพื่อให้คณะได้เรียนรู้และซึมซับภูมิปัญญาอย่างเต็มที่ โดยแบ่งออกเป็นฐานทอผ้าซิ่นตีนจก , ย้อมผ้า , ทำปิ่น , ทำขันหลวง สะเดาะเคราะห์ ทำขนมวง , ทำถั่วเน่า , เครื่องจักสาน , หมอนหน้าจก และทำว่อม
สำหรับ “ผ้าซิ่นตีนจก แม่แจ่ม” นั้น สตรีแม่แจ่มในอดีต จะถูกฝึกหัดให้รู้จักทอผ้าตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อพร้อมที่จะทอผ้าสำหรับนุ่งห่มของตนเองและครอบครัว ทุกวันนี้ชุมชนแม่แจ่มโดยส่วนใหญ่ก็ยังนิยมทอและใช้ผ้าทอที่ทำขึ้นในท้องถิ่น สันนิษฐานว่าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม น่าจะมีขึ้นในยุคสมัยที่พุทธศาสนาของล้านนามีความเจริญรุ่งเรือง จากลวดลายของซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความคิด ความเชื่อทางพุทธศาสนา จากองค์ประกอบของซิ่นตีนจกแม่แจ่มจะปรากฏลวดลายต่างๆ เช่น โคม ขัน นาค หงส์ น้ำต้น สะเปา อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความเชื่อทางพุทธศาสนา อันหมายถึง เขาพระสุเมรุ ทะเลสีทันดร และสัตว์หิมพานต์ ดังปรากฏอยู่ในการเทศน์มหาชาติ ช่วงลอยกระทงของทุกปี ประกอบอยู่บนผืนผ้า สีแดงเป็นเชิงซิ่นอันหมายถึงสวรรค์หรือจักรวาล เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพสักการะ และเป็นพุทธบูชาของทั้งผู้ทอและผู้สวมใส่ให้เกิดสง่าราศี เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เกิดบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ โดยมีสวรรค์และนิพพานเป็นจุดหมายปลายทาง นอกจากนี้สตรีแม่แจ่มยังมีการเก็บผ้าตีนจกผืนที่ดีที่สุด งามที่สุด ไว้สำหรับตัวเองใส่เมื่อยามละสังขารแล้ว เพื่อจะได้ไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์เป็นครั้งสุดท้าย
ลวดลาย “จก” ของซิ่นตีนจกแม่แจ่มนั้น เป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผืนผ้าบนเส้นพุ่ง ด้วยวิธีการสอดด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ โดยใช้ขนแม่นหรือเหล็กแหลมช่วยในการจกหรือควักเส้นด้ายขึ้นมาบนเนื้อผ้าที่ทออยู่ ซึ่งลวดลายของตีนจกแม่แจ่ม มีทั้งสิ้น 16 ลายด้วยกัน ได้แก่ 1.ลายกอนกลาง 2. ลายละกอนหน้อย 3. ลายเจียงแสนหลวง 4. ลายละกอนหลวง 5. ลายเจียงแสนหน้อย 6. ลายหงส์ปล่อย 7. ลายขันเสี้ยนสำ 8. ลายหงส์บี้ 9. ลายขันแอวอู 10. ลายขันสามแอว 11. ลายโกมรูปนก 12. ลายโกมหัวหมอนในนกนอน 13. ลายนาคกุม 14. ลายกุดขอเบ็ด 15. ลายนกกุม และ16. ลายนกนอนกุม
“ปิ่นโบราณ” เป็นอีกหนึ่งงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ของแม่แจ่ม มีครูช่างที่ชื่อ “ครูก้อนแก้ว อินต๊ะก๋อน” เป็นครูช่างระดับตำนานในการทำปิ่นปักผมโบราณ ซึ่งท่านเสียชีวิตแล้ว ด้วยโรคชรา เมื่อปี 2556 ปัจจุบันมีบุตรสาวเป็นผู้สืบทอด ปิ่มปักผมโบราณ เป็นสิ่งที่หญิงชาวแม่แจ่มจะขาดไม่ได้ โดยเฉพาะเวลาไปงานบุญหรืองานสำคัญต่างๆ จะต้องสวมซิ่นตีนจก มวยผมพร้อมปักปิ่นทองเหลืองโบราณไปงาน
ซึ่งตัวปิ่นถูกออกแบบและตีขึ้นรูปให้ได้ลวดลายต่างๆ ส่วนใหญ่จะตีเป็นรูปร่มหรือปิ่นจ้องของชาวไทยลื้อ โดยวัสดุที่ใช้ทำปิ่นมักจะเป็นเงินหรือทองเหลือง ส่วนยอดจะประดับด้วยอัญมณีต่างๆ เช่น พลอยพม่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการทำ ช่อดอกไม้ไหว ที่ทำจากโลหะเงินหรือทองเหลืองบางๆ เอามาดัดเป็นดอกไม้และใบไม้ เรียกว่า เอื้องเงินเอื้องคำ
“การทำขันหลวง สะเดาะเคราะห์” ซึ่งขันหลวง หรือขันตั้ง เป็นเครื่องบูชาครูล้านนา จัดไว้สำหรับบูชาหรือยกครูในเวลาประกอบพิธี สิ่งของที่จัดใส่ในพาน ในขันโตก หรือภาชนะอื่นๆ ที่ครูบาอาจารย์กำหนดไว้มีหลายอย่าง ส่วนมากมักจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่ใช้สอยในชีวิตประจำวัน อาทิ หมาก พลู ดอกไม้ เทียน ผ้าขาว ผ้าแดง แกงส้ม แกงหวาน ข้าวเปลือก ข้าวสาร เป็นต้น
“ขนมวง” ขนมพื้นบ้านล้านนา เป็นขนมที่ทำด้วยแป้ง เป็นรูปวงกลมแบบเดียวกับโดนัทของฝรั่ง มีน้ำอ้อยหยอดโดยรอบ ซึ่งตัวขนมประกอบไปด้วย แป้งข้าวเหนียว กล้วยน้ำว้าสุก ไข่ไก่ ในอัตราส่วนแป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม กล้วยน้ำว้าสุก 5 ลูก และไข่ไก่ 3 ฟอง ผสมแป้งข้าวเหนียวและกล้วยน้ำว้าสุก นวดให้เข้ากัน ใส่ไข่ไก่จามลงไป นวดให้เข้ากัน เติมน้ำทีละน้อย แล้วนวดไปเรื่อยๆ นวดจนส่วนผสมเข้ากัน และติดกันเป็นก้อน จากนั้นหยิบแป้งมาคลึงให้เป็นเส้นยาว แล้วนำปลายมาชนกันเป็นวงกลม ตั้งน้ำมันให้ร้อน นำแป้งที่เตรียมไว้ลงทอด พอขนมเหลืองทั่ว ตักขึ้นใส่ตะแกรงพักไว้ แล้วเคี่ยวน้ำอ้อยจนเหนียวได้ที่ หยอดลงบนหน้าขนมวง
“ถั่วเน่า” เป็นอาหารพื้นบ้านชนิดหนึ่งของชาวล้านนาที่มีมาแต่โบราณ (บางคนเชื่อว่าถั่วเน่ามีต้นกำเนิดมาจากไทใหญ่) นิยมกินกันในหมู่คนล้านนา โดยเฉพาะในกลุ่มคนไทลื้อ ไทใหญ่ ไทเขิน ไทโยน ไทยอง เป็นอาหารที่ได้จากวิธีถนอมอาหาร ซึ่งถั่วเน่าทำจากถั่วเหลืองที่ผ่านการต้มสุก และปรุงรสชาติด้วยเกลือ พริกย่างป่นทิ้งไว้ 2-3 วันจนมีกลิ่นและมีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม และมีรสชาติเค็ม ชาวล้านนาส่วนใหญ่จะใช้ถั่วเน่าแทนกะปิ
การนำถั่วเน่าที่ผ่านจากการหมัก โดยถั่วที่เริ่มเปื่อยยุ่ย เรียกว่า “ถั่วเน่าซา” นำไปคั่วหรือผัดใส่ไข่และหอมแดง แต่ถ้านำ ถั่วเน่าซา มาโขลกหรือบดให้ละเอียดจนกลายเป็นสีไข่ไก่แล้วนิยมนำมาห่อใบตองปิ้ง จะเรียก “ถั่วเน่าเมอะ” และถ้านำ “ถั่วเน่าเมอะ” มาทำเป็นแผ่นวงกลมตากแห้งแล้วเป็นสีน้ำตาล ก็จะเรียก “ถั่วเน่าแค็บ ”และในปัจจุบันถั่วเน่าแค็บยังมีการพัฒนาและนำมาแปรรูปเป็นถั่วเน่าผง เพื่อความสะดวกในการปรุงรสของอาหาร
ถั่วเน่าเป็นอาหารที่ให้ประโยชน์มากมายแก่ผู้บริโภค นอกจากใช้เป็นอาหารเสริมรสชาติแล้วยังให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ประกอบด้วย โปรตีน ในประเภทถั่ว ซึ่งทางการแพทย์เชื่อว่ามีผลในการลดอัตราการเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ใช้ลดความอ้วนและบำรุงสมองได้อีกด้วย
“จักสาน” เครื่องจักสานของบ้านท้องฝาย ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องจักสานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และที่ใช้ในศาสนพิธีต่างๆ อาทิ พาน ข้อง ตะกร้า และอื่นๆอีกมากมาย ที่ล้วนแต่มีลวดลายที่สวยงาม เป็นเอกลักษณ์
“หมอนหน้าจก” เป็นหมอนที่สตรีชาวแม่แจ่มทำขึ้นใช้เอง เป็นหมอนที่ใช้นุ่นยัด แล้วติดหน้าหมอนด้วยลวดลาย “จก”โดยลายหน้าหมอนที่ได้รับความนิยมกันมาก คือ ลายฟันปลา ลายขนมเปียกปูน ลายดอกจัทน์ และรูปสัตว์ เช่น ม้า ช้าง กบ ปู เป็นต้น วัสดุที่ใช้ในการจกหน้าหมอนอาจจะใช้ฝ้ายสองเส้น หรือใช้ไหมพรมก็ได้ แล้วแต่ผู้ทอ
และ “ว่อม” เป็นหมวกโบราณของชาวแม่แจ่ม ที่ผู้เฒ่าผู้แก่นิยมทำให้ลูกหลานใส่ เอาไว้กันหนาวและกันฝน เป็นหมวกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เย็บด้วยมือ ที่ทุกวันนี้มีผู้เฒ่าผู้แก่อยู่ไม่กี่คนที่ทำ จึงเป็นหมวกที่นับวันจะยิ่งพบเห็นได้น้อยลง ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้
ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องราวแห่งการท่องเที่ยวและเรียนรู้ “ภูมิปัญญาล้านนา” ของบ้านท้องฝาย ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยผลลัพธ์ที่ได้ต้องขอบอกว่า ภูมิปัญญาล้านนาที่ถ่ายทอดออกมาในงานหัตถศิลป์ของแต่ละท้องที่นั้น ล้วนทรงคุณค่า และถ่ายทอดเรื่องราวของความเป็นชุมชนออกมาได้เป็นอย่างดี ควรค่าแก่คนรุ่นเราและรุ่นหลังจะรักษาไว้ให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติต่อไป
สนใจอยากมาเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้าน และเรียนรู้ภูมิปัญญาล้านนาในโรงเรียนที่มีชื่อว่า “บ้านท้องฝาย” ก็แวะมากันได้ สามารถติดต่อได้ที่ พ่อหลวงพรชัย กรรณิกา โทรศัพท์ 089-5593928