การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับเทศบาลตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดงานประเพณีออกหว่า 23-25 ตุลาคม 2561

ปราชญ์ด้านวัฒนธรรมและประเพณีอำเภอแม่สะเรียง คุณประพันธ์ วิริยะภาพ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแม่สะเรียง คุณอินทร นันทสมบูรณ์ และผู้อำนวยการภูมิภาคภาคเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คุณสมฤดี จิตรจง ร่วมแถลงข่าวการจัดงานประเพณีออกหว่าหรือประเพณีออกพรรษาของอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม 2561

ประเพณีออกหว่า เทศกาลออกพรรษาแม่ฮ่องสอน ซึ่งคำว่า “ออกหว่า” หมายถึง การออกจากฤดูฝน เป็นงานประเพณีออกพรรษาตามความเชื่อของชาวอำเภอแม่สะเรียงโดยงานประเพณีออกหว่า ชาวอำเภอแม่สะเรียงที่อยู่ต่างถิ่นจะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อร่วมทำบุญและร่วมงานประเพณีออกหว่ากับครอบครัว โดยจะมีการตักบาตรตีสี่ บริเวณหน้าบ้านของตนเอง ตลอดทั้ง 3 วัน และจะตักบาตรอาหารสดในวันแรก เนื่องจากชาวอำเภอแม่สะเรียงเชื่อว่า การตักบาตรที่หน้าบ้านของตนเองจะเป็นสิริมงคลต่อบ้านและคนในครอบครัว ซึ่งจะแตกต่างจากงานประเพณีออกพรรษาในท้องถิ่นอื่น นอกจากนั้นยังมีการจัดทำโคมและซุ้มราชวัติตกแต่งบ้านเรือน ตลอดจนมีขบวนแห่เทียนเหง หรือเทียนพันเล่ม ซึ่งประกอบด้วยขบวนแห่ต้นโคม เครื่องไทยทาน และการแสดงศิลปะรำฟ้อน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการการกลับจากสวรรค์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งงานประเพณีออกหว่า ของอำเภอแม่สะเรียง เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีแห่งเดียวในโลก

โดยมีกำหนดการประเพณีออกหว่า เทศกาลออกพรรษาแม่ฮ่องสอน 2561
– วันที่ 23 ตุลาคม 2561 ร่วมพิธีเปิดลานวัฒนธรรม ณ วัดอุทยารมณ์หรือวัดจองสูง
– วันที่ 24 ตุลาคม 2561 ชมพิธีเปิดสุดยิ่งใหญ่
– วันที่ 25 ตุลาคม 2561 ร่วมชมขบวนแห่เทียนเหง, ชมการประกวดธิดาออกหว่า

กิจกรรมในงานประเพณีออกหว่าประกอบไปด้วย
1.การจัดทำซุ้มราชวัตร การจัดทำซุ้มราชวัตร ( ปราสาทรับเสด็จพระพุทธจ้า) ชาวไตมักเรียกว่า “กยองเข่งปุด” เพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้า ชาวอำเภอแม่สะเรียง เชื่อว่าในวันออกพรรษา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในวันนี้เองที่พุทธศาสนิกชนจะตกแต่งหน้าบ้านของตนเอง เป็นซุ้มราชวัตรประดับประดาด้วยโคมไฟ “โคมหูกระต่าย” ตกแต่งประดับประดาราชวัติ ด้วยดอกไม้ ต้นกล้วย ต้นอ้อย ช่อตุง ประทีบโคมไฟ ประซุ้มประตูบ้านเป็นรูปปราสาทอย่างสวยงาม เพื่อประหนึ่งว่าต้อนรับพระพุทธเจ้าที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาที่เมืองสังกัสนคร ประเทศอินเดียสมัยนั้น (ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน : 2549) ประชาชนจะจัดทำซุ้มราชวัตรก่อนงานออกว่า อย่างน้อย 3-5 วัน โดยในแต่ละบ้านจะทำ ซุ้มราชวัตรเล็กๆ บริเวณหน้าบ้านของตนตามแต่ กำลัง และฐานะ แต่ในหนึ่งหมู่บ้าน หรือ ชุมชน จะมีศูนย์กลางซุ้มราชวัตรที่ชุมชนร่วมกันจัดขึ้น โดยใช้งบประมาณส่วนกลางของหมู่บ้าน และการ บริจาค และของเก่าที่เคยมีในปีที่ผ่านมา มาใช้ประดับประดา หากสนใจมาดูวิชีการจัดทำราชวัตร ก็สามารมาก่อนล่วงหน้างาน อย่างน้อย สองวัน คือก่อน วันขึ้น 18 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี

2.การทำบุญตักบาตรกิจกรรมทำบุญตักบาตร เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาวอำเภอแม่สะเรียง เนื่องด้วยเป็นการตักบาตรที่เช้าที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ และจัดให้มีการตักบาตรจำนวน 3 วัน ซึ่งพระสงฆ์จะออกบิณฑบาตจากวัดต่าง ๆ ไปตามเส้นทางปกติที่ทำเป็นกิจวัติ มิได้เป็นลักษณะของการเกณฑ์พระสงฆ์มาบิณฑบาต แต่จะเป็นลักษณะวิถีชีวิต และพุทธศาสนิกชนในอำเภอแม่สะเรียงจะตักบาตรบริเวณหน้าบ้านของตนเอง สอดรับกับซุ้มราชวัตรที่ได้จัดทำไว้ ก่อนและหลังจากเสร็จกิจกรรมตักบาตรแล้ว บรรดาหนุ่มสาว จะเดินเที่ยวชมราชวัตรที่ได้ประดับประดาไว้ เป็นโอกาสที่จะได้พบปะ และทำความรู้จักกันอีกด้วย (ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน : 2549)

3.กิจกรรมแห่เทียนเหง ในวันแรม 1-14 ค่ำเดือน 11 จะมีกิจกรรมประเพณีแห่เทียนเหงที่จัดขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งเป็นเป็นประเพณีหนึ่งที่สืบทอดมาจากไทยใหญ่ เทียนเห็งเป็นภาษาไทยใหญ่ แปลว่า เทียนพันเล่ม ไทยใหญ่เรียกว่า “หลู่เตนเหง” คำว่า หลู่ แปลว่า ถวายหรือทาน คำว่า “เตน” แปลว่า เทียน และคำว่า “เหง” แปลว่า หนึ่งพัน ชาวพื้นเมืองพูดกันว่า “ตานเตนเหง” หรือ แห่เทียนเหง แม้จะพูดกันเพี้ยนไปเป็นอย่างไร ประเพณีนี้ ก็คือประเพณีหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนทำเพื่อเป็นการถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า การตานเทียนเหง หรือการแห่เทียนเหง จะจัดขึ้นในช่วงวันแรม 1 –14 ค่ำเดือน 11 ส่วนมากจะทำกันเป็นกลุ่มบุคคล หรือองค์กร หรือวัดวาอาราม หรือผู้ที่มีเงินเป็นเจ้าภาพ เพราะกิจกรรมนี้ค่าใช้จ่ายสูงมาก องค์กรที่รับเป็นเจ้าภาพจะมีการบอกบุญไปยังเพื่อนสนิทมิตรสหายที่อยู่ใกล้ไกลมาร่วมจัดงานบุญ ร่วมกันจัดสิ่งของเครื่องไทยธรรม มีเทียนจำนวน 1 พันเล่ม โคมหูกระต่าย โคมกระบอก ตุงและตุงจ่องกรวยดอกไม้จำนวนอย่างละ 1 พัน ในวันคืนแห่เทียนเหง จะมีขบวนสตรีที่รับเชิญมาจากหมู่บ้านต่าง ๆ แต่งกายแบบหญิงไทยใหญ่ นำเครื่องไทยธรรมดังกล่าวร่วมขบวน และในวันนี้สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ ต้นโคมหูกระต่าย ที่ทำเป็นชั้น ๆ เหมือนฉัตรหรือรูปปิรามิด จำนวน 1 ต้น และต้นเกี๊ยะที่นำเอาไม้สนสามใบมาจักเป็นชิ้นเล็ก ๆ ยาวประมาณ 2.5 เมตร แล้วนำมามัดรวมกันเป็นต้นเกี๊ยะ เพื่อจุดบูชาพระพุทธเจ้าหลังจากเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ในขบวนก็จะมีการละเล่นที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชน มีการแต่งตัวที่สมมุติเป็นเทพบุตร เทพธิดา และสัตว์ป่าหิมพาน นานาชนิด เช่น การฟ้อนโต การฟ้อนกิ่งกะหล่า การฟ้อนก๋ำเบ้อคง การฟ้อนเขียดแลว การฟ้อนผีโขน ฯลฯ มีฆ้องกลองละล้อซอซึงเล่นประโคมกันอย่างสนุกสนาน ถือการแห่เทียนเหง ที่จัดขึ้นในประเพณีออกหว่านั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังคำรจนาที่อาจารย์ศิริลักษณ์ ฉวี อาจารย์โรงเรียนแม่สะเรียง บริพัตรศึกษา ได้ประพันธ์ว่า “เทียนเหงพร่างตา ผ้าทอกระเหรี่ยง เสนาะเสียงสาละวิน งามถิ่นธรรมชาติ พระธาตุ สี่จอม กล้วยไม้หอมเอื้องแซะ” (ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน : 2549 หน้า 237 ,238)

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท. )สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 053-612982-3 หรือสามารถอัพเดทรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ FB:Tat Maehongson

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น