ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของการบริจาคดวงตา ต่อความหวังของผู้ป่วยโรคกระจกตาพิการ
ทุกๆ คนสามารถบริจาคดวงตาได้ แม้จะเป็นผู้สูงอายุ ผู้มีสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง แม้กระทั่งผู้ที่มีการผ่าตัดต้อกระจกแล้ว แต่ถ้ากระจกตายังใสเป็นปกติ ก็สามารถเป็นผู้บริจาคดวงตาได้ทั้งสิ้น การแสดงความจำนงบริจาคดวงตาเป็นเรื่องไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่ประการใด
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยธนาคารดวงตา ภาควิชาจักษุวิทยา ได้จัดนิทรรศการ “วันศูนย์ดวงตา ปี 2561” เพื่อรณรงค์ให้บุคลากรทางสาธารณสุข และประชาชนทั่วไป ได้มีความรู้ ทัศนคติที่ดี และตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของการบริจาคดวงตา ผู้ป่วยที่รอปลูกถ่ายกระจกตา และรณรงค์ ส่งเสริมให้มีผู้แสดงความจำนงเพื่อบริจาคดวงตามากขึ้น โดยงานนี้ได้จัดขึ้น ณ ชั้น 1 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมี ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวเปิดงาน
รศ.พญ.นภาพร ตนานุวัฒน์ อาจารย์ประจำหน่วยกระจกตาและการแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยแสงเลเซอร์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาถือเป็นความหวังของผู้ป่วยโรคกระจกตาพิการที่มีสายตาเลือนลาง ให้กลับมามองเห็นได้เหมือนหรือใกล้เคียงปกติ ปัจจุบันการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตายังถือเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะที่ทำมากที่สุด และประสบความสำเร็จสูง เนื่องจากความก้าวหน้าทางด้านวิธีการผ่าตัด รวมไปทั้งมีการพัฒนาวิธีการเก็บรักษากระจกตาที่ได้รับบริจาค เพื่อนำไปรักษาให้แก่ผู้ป่วยได้ดีขึ้นกว่าอดีต อย่างไรก็ตามการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา จะสำเร็จได้ต้องมีการบริจาคดวงตาจากผู้อื่นบริจาคให้ ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยที่เฝ้ารอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตาอยู่กับโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีธนาคารดวงตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับบริจาคดวงตาในเขตภาคเหนือตอนบน เป็นองค์กรที่รับบริจาคดวงตาจากผู้ที่มีความจำนงอุทิศดวงตาอยู่ แต่จำนวนผู้ที่บริจาคดวงตาให้ทางธนาคารดวงตามีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วย ทำให้ระยะเวลานับตั้งแต่เข้ารับการจองคิว ไปจนได้รับการผ่าตัดค่อนข้างนานหลายปี ผู้ป่วยเหล่านี้ต้องทุกข์ทรมานกับความพิการทางสายตาหรือความเจ็บปวด นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจสูญเสียดวงตา หรือตาบอดสนิทไปก่อนที่จะได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา จากวิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารดวงตา ต้องจัดกิจกรรมที่หลากหลายรูปแบบในแต่ละปี
ในงานมีการเสวนาเรื่อง การดูแลดวงตาในสังคมยุคดิจิตอล โดย อ.พญ.จุฬาลักษณ์ ตั้งมั่นคงวรกูล อาจารย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. , เรื่องโรคตาแดงในหน้าฝน โดย อ.พญ.เหมือนพลอย นิภารักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. , เรื่องการผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา โดย รศ.พญ.นภาพร ตนานุวัฒน์ อาจารย์ประจำหน่วยกระจกตาและการแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยแสงเลเซอร์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. , กิจกรรมตรวจสุขภาพตา วัดความดันลูกตา ความหนาของกระจกตา และตรวจวิเคราะห์เซลกระจกตา สำหรับการบริจาคดวงตานั้นไม่ยุ่งยาก ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าการจะเป็นผู้บริจาคดวงตานั้นจะต้องเป็นผู้มีสายตาปกติ แท้จริงแล้วทุกๆ คนสามารถบริจาคดวงตาได้ แม้จะเป็นผู้สูงอายุ ผู้มีสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง แม้กระทั่งผู้ที่มีการผ่าตัดต้อกระจกแล้ว แต่ถ้ากระจกตายังใสเป็นปกติ ก็สามารถเป็นผู้บริจาคดวงตาได้ทั้งสิ้น การแสดงความจำนงบริจาคดวงตาเป็นเรื่องไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่ประการใด