พลังงานจังหวัดเชียงใหม่ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
สำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงพลังงาน นำสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมโครงการต้นแบบในพื้นที่ตำบลแม่แวน อำเภอพร้าว และพื้นที่บ้านแม่ตุงติง อำเภอสะเมิง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ในพื้นที่ที่สำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการ เพื่อสร้างความเข็มแข็งให้กับชุมชน สร้างรายได้ และอาชีพเสริม โดยเทคโนโลยีพลังงานชุมชน อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาสำคัญในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ อย่างปัญหาหมอกควัน และปัญหาภัยแล้ง
วิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่ง – โรงอัดถ่านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านเหล่า ตำบลแม่แวน อำเภอพร้าว โดยชาวบ้านได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่งได้ประมาณ 1 ปีแล้ว จากการสนับสนุนของสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่แวน ทั้งในแง่ความตระหนักรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องปัญหาหมอกควันไฟป่า และสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานที่ใช้ในการผลิตถ่านอัดแท่งอย่างครบวงจร โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินโครงการพลังงานชีวมวลประชารัฐ ลดหมอกควัน จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่อำเภอพร้าว เมื่อปี 2560 ภายใต้โครงการพลังงานชุมชนจัดการตนเองทางด้านพลังงาน งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เน้นแก้ไขปัญหาหมอกควันจากการเผาในที่โล่งแจ้ง ด้วยเทคโนโลยีเตาเผาถ่าน 200 ลิตรชนิดลดควัน ซึ่งเกิดจากการผสมผสานและพัฒนาแบบเตาของคุณโจนจันได แบบของมูลนิธิอุ่นใจ ปราชญ์ชาวบ้านและแบบของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จนได้แบบที่เหมาะสมในการเผาถ่านซังข้าวโพด และกิ่งไม้ที่เกิดควันน้อยมากนำมาผลิตเป็นถ่านอัดแท่ง ซึ่งมีคุณสมบัติทนได้ความร้อนสูง ใช้งานได้นานกว่าถ่านทั่วไป ซึ่งเป็นที่ต้องการในท้องตลาดอย่างมากในปัจจุบัน
นายชำนาญ กายประสิทธิ์ พลังงานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ในปี 2558 – 2559 พื้นที่อำเภอพร้าว ถือเป็นจุดที่มี Hot Spot จำนวนค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาเศษวัสดุชีวมวลเหลือทิ้งในที่โล่ง เช่น ซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกิ่งไม้ใบไม้ จากไร่สวนต่าง ๆ สำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ตระหนักถึงปัญหาและเล็งเห็นถึงศักยภาพของเศษวัสดุชีวมวลที่เหลือทิ้งว่า สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ให้กับชุมชน ควบคู่ไปกับการลดปัญหาการเผาทิ้งในที่โล่งได้ โดยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ตระหนักถึงปัญหา และสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานในส่วนของการทำถ่านอัดแท่ง ทั้งเตาเผาถ่านชนิดลดควัน เครื่องบดย่อยป่นถ่าน เครื่องผสมถ่าน และเครื่องอัดแท่งถ่าน ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร สามารถใช้ในครัวเรือน และจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้”
นายกมล เรือนแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่แวน กล่าวเสริมว่า “ทางหน่วยงาน ได้สนับสนุนให้ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่งขึ้นมา ซึ่งพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลแม่แวน ถือเป็นกลุ่มชุมชนที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว พร้อมให้การสนับสนุนและความร่วมมือกับทางราชการ อีกทั้งชุมชนเองก็ได้ประโยชน์เป็นอย่างมากจากการเข้าร่วมโครงการ เพราะจากเดิมวัสดุทางการเกษตรเหลือทิ้ง ไม่ว่าจะเป็น ซังข้าวโพด กิ่งไม้ต่าง ๆ ถือเป็นของไร้ค่า ส่วนใหญ่ก็จะเผาทิ้ง กลายเป็นสร้างมลพิษทางอากาศด้วย แต่ปัจจุบัน เศษวัสดุเหลือทิ้งเหล่านั้นถูกนำมาขายให้กลับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่ง สร้างรายได้ต่อแรก หลังจากนั้นก็นำมาเผาโดยเตาเผาถ่านชนิดลดควัน เข้าสู่กระบวนการผลิตถ่านอัดแท่ง นำไปขายสร้างรายได้นำมาแบ่งกัน ในกลุ่มวิสาหกิจฯ ถือเป็นความร่วมมือที่ก่อให้เกิดประโยชน์ 2 ต่อ นอกจากจะลดหมอกควันแล้ว ยังสร้างรายได้เพิ่ม สร้างอาชีพใหม่ ๆ ให้กับในชุมชนอีกด้วย”
นายอำพล ไชยนุรักษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่ง เล่าความประทับใจให้ฟังว่า “กลุ่มวิสาหกิจนี้ ถือเป็นต้นแบบการรวมกลุ่มสร้างงานสร้างอาชีพเสริม ซึ่งเกิดจากการนำเอาวัสดุที่คนคิดว่าไร้ค่า แถมการกำจัดยังสร้างปัญหามลพิษขึ้นด้วย มาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม” และนำเยี่ยมชมกระบวนการผลิตถ่านจริง พร้อมอธิบายให้ฟังว่า “ในการเผาถ่านด้วยถัง 200 ลิตร 1 ถัง ถ้าเป็นซังข้าวโพดจะใช้ประมาณ 30 กิโลกรัม เผาประมาณ 1 ชั่วโมง ได้เป็นถ่านออกมาประมาณ 8 – 10 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นกิ่งไม้ เช่น กิ่งลำไย กิ่งมะม่วง จะเผานานกว่าหน่อย แล้วแต่ขนาดไม้ และความสุกของไม้ เต็มถังก็จะได้ถ่านประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วในพื้นที่ อบต.แม่แวน จะเป็นกิ่งไม้มากกว่าซังข้าวโพดที่นำมาผลิตถ่านที่นี่ ส่วนในกระบวนการผลิตถ่านอัดแท่ง ก็จะนำถ่านที่เผาได้ มาเข้าเครื่องบดย่อยเพื่อป่นเป็นผง นำมาเข้าเครื่องผสมโดยส่วนผสมคือ น้ำ แป้งมัน และผงถ่าน จากนั้นก็จะไปเข้าเครื่องอัดเพื่อออกมาเป็นถ่านอัดแท่ง นำมาบรรจุถุงติดตราขาย กิโลกรัมละประมาณ 20 บาท” “เราลงแค่แรง ค่าเศษวัสดุก็ไม่กี่บาทเพราะปกติเขาทิ้งอยู่แล้ว เครื่องมือก็ได้รับการสนับสนุนจากพลังงาน รายได้ ก็มาแบ่งกัน นอกจากนั้นคือความภูมิใจ ที่สร้างเสริมรายได้ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาหมอกควันที่ชุมชนมีส่วนก่อขึ้นด้วย” นายอำพลฯ กล่าวต่ออย่างอารมดี
ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ – ถัดมาไม่ไกลจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนถ่านอัดแท่ง สำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่เชิญคณะมาเป็นสักขีพยาน ร่วมในพิธีส่งมอบระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ แบบเรือนกระจก ที่เพิ่งสร้างเสร็จ ให้กับชุมชนกลุ่มสมุนไพรผักอินทรีย์
นายชำนาญ กายประสิทธิ์ พลังงานจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “กระทรวงพลังงาน ได้มีการขยายผลเทคโนโลยีพลังงานชุมชน ส่วนของระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ในลักษณะงบอุดหนุน 70:30 โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนงบประมาณในส่วนของพื้นคอนกรีต โรงอบ และระบบวงจรควบคุมทั้งหมด คิดเป็นเงิน 91,000 บาท ส่วนอีก 30% ที่เหลือ ได้แก่ ชั้นตากผลิตภัณฑ์ และป้าย ทาง อบต.แม่แวน ช่วยสนับสนุนให้กับกลุ่มฯ หวังว่า จะช่วยเสริมให้กลุ่มเข้มแข็ง สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอด สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้ชุมชนเข็มแข็งได้”
โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะอบแห้งผลิตภัณฑ์โดยวิธีตากแดดตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการปนเปื้อนของฝุ่นละออง การรบกวนของแมลง และในฤดูฝนทำให้เปียกชื้น ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานและเสียหาย โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็กเป็นหลังคาทรงโค้งและผนังปิด ทั้ง 4 ด้านทำด้วยแผ่นโผลีคาร์บอเนตแบบใส ปูพื้นด้วยคอนกรีต แสงอาทิตย์จะส่งผ่านโพลีคาร์บอเนตได้ดี แต่จะป้องกันรังสีความร้อนที่แผ่ผ่านจากภายในโรงอบแห้งให้ผ่านออกมาได้น้อย ความร้อนส่วนใหญ่จึงถูกเก็บกักอยู่ภายในโรงอบ ทำให้ผลิตภัณฑ์ในโรงอบมีอุณหภูมิสูงขึ้นตามหลักการเรือนกระจก (Greenhouse Effect) จะมีระบบพัดลมดูดอากาศที่ใช้พลังงานโซลาเซลล์เพื่อระบายความชื้นหรือน้ำจากผลิตภัณฑ์ที่อบแห้งไป โดยสามารถลดระยะเวลาในการตากผลิตภัณฑ์ได้ 30-60 % ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบ ความชื้นของผลิตภัณฑ์และแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดี สะอาด ปลอดภัย เป็นที่ต้องการของตลาด
นายกมล เรือนแก้ว นายก อบต. แม่แวน กล่าวถึงระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่พลังงานจังหวัดเชียงใหม่สนับสนุน ร่วมกับ อบต. แม่แวน ว่า “กลุ่มสมุนไพรผักอินทรีย์ นำโดยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 เพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้น ด้วย อบต. เองเล็งเห็นว่า ในพื้นที่เรามีสมุนไพรอยู่เยอะ สนับสนุนให้ปลอดสารพิษโดยระบบเกษตรอินทรีย์ ก็อยากจะให้ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นไป สร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ และกลายเป็นอาชีพใหม่ ให้กับชุมชนเรา เลยตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่ คิดว่าจะได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย นอกจากนั้น ตอนนี้ยังมีการบูรณาการโดยดึงหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาต่อยอด ช่วยกลุ่มฯ ในการดำเนินกิจกรรม เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ก็จะเข้ามาให้ความรู้เรื่องการปลูกพืชอินทรีย์ และการแปรรูปผลิตภัณฑ์โดยระบบอบแห้ง ยังมีกรมการเร่งรัดพัฒนาชนบทที่เข้ามาศึกษาดูทางที่จะต่อยอดขึ้นไปอีก ถือว่าระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์นี้ จะเป็นศูนย์กลางสำคัญอันหนึ่ง ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนแม่แวนต่อไป”
นายประจันทร์ วรรณพรม ประธานกลุ่มสมุนไพรผักอินทรีย์ เสริมว่า “ในหมู่ 6 นี้มีการปลูกพืชสมุนไพรเยอะ ก็พยายามรวมกลุ่ม คิดว่าน่าจะเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี ทางพลังงานจังหวัดเข้ามาสนับสนุนระบบอบแห้งนี้พอดี ถือเป็นสิ่งที่กำลังต้องการ ก็จะเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิก”
ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ณ โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านแม่ตุงติง
นายชำนาญ กายประสิทธิ์ พลังงานจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า “ในปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2558 ประเทศไทยประสบปัญหาความแห้งแล้งอย่างหนัก น้ำทำการเกษตรแถบจะไม่มีเหลือ ในขณะที่นำอุปโภคบริโภค อยู่ในขั้นวิกฤติ กระทรวงพลังงาน เล็งเห็นปัญหาตรงนี้ และทราบว่า ที่ผ่านมากรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้มีการขุดเจาะน้ำบาดาลไว้หลายที่ แต่ปัญหาคือ การสูบน้ำขึ้นมาใช้ บางที่ไม่มีไฟฟ้า บางที่ต้องใช้เครื่องยนต์น้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นการเสียค่าใช้จ่าย และไม่สะดวก จึงได้จัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2559 เพื่อดำเนินโครงการสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง โดยเป็นการสนับสนุนจัดทำระบบโซลาเซลล์เพื่อการสูบน้ำ ถังเก็บน้ำ และระบบจ่ายน้ำ ให้กับชุมชนที่ต้องการ และได้รับการรับรองว่าเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง รวมทั้งมีบ่อบาดาลที่เจาะโดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล” นายชำนาญ กายประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า “ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจำนวน 19 แห่ง ที่นี่ถือเป็นหนึ่งใน 19 ที่สำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงใหม่สนับสนุน ถือเป็นการขยายด้านการใช้พลังงานทดแทนที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อการเกษตร หรืออุปโภคตามนโยบายของรัฐบาล สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม เน้นการจัดรูปแบบด้านพลังงานที่มีอยู่ในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน เกิดความคุ้มค่า สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน”