ปางช้างแม่สา เชียงใหม่ จัดกิจกรรมวันแม่
ปางช้างแม่สา อาณาจักรช้างไทยได้ร่วมกับ ททท.สำนักงานเชียงใหม่จึงได้จัดกิจกรรม “ช้างโลกเทิดไท้ องค์ราชินี”
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2560 ปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จัดกิจกรรมวันแม่ นอกจากจะเป็นวันสำคัญของปวงชนคนไทย เนื่องในวันแม่แห่งชาติแล้ว ในวันนี้ย้อนหลังไปเมื่อปี 2555 หรือ 2012 ได้ถูกจารึกไว้ให้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งนั่นก็คือ วันช้างโลก (World Elephant Day)
ช้าง เป็นสัตว์สังคมที่มีความฉลาด ให้ความสำคัญกับครอบครัว มีความจำที่ดี มีความรู้สึกที่หลากหลายทั้งด้านเศร้าและร่าเริง รวมไปถึงสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกได้ และมีการระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ช้างยังเป็นสัตว์ที่เป็นที่รัก เป็นที่เคารพนับถือตามความเชื่อของผู้คนและวัฒนธรรมในหลาย ๆ แห่งทั่วโลก
ปางช้างแม่สา อาณาจักรช้างไทยร่วมกับ ททท.สำนักงานเชียงใหม่จึงได้จัดกิจกรรม “ช้างโลกเทิดไท้ องค์ราชินี”ขึ้น เป็นกิจกรรมแม่ลูกสุขสันต์วันช้างโลก ที่นำคู่แม่-ลูก ไปร่วมทำกิจกรรมที่ปางช้างแม่สา ทำหน้าที่เหมือนควาญช้างฝึกหัดได้สัมผัสและเรียนรู้การอยู่และดูแลช้างในห้วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็มีผูกผันและได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์ในการเลี้ยงและดูแลช้าง
กิจกรรมเริ่มต้นโดยเมื่อไปถึงปางช้างแม่สา คู่แม่ลูกได้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายในชุดหม้อฮ่อมควาญช้าง ซึ่งที่ปางช้างแม่สาแห่งนี้จะเปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่สนใจได้มาเรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่กับช้าง นับตั้งแต่พาช้างกิน นอน เดิน เล่นและอาบน้ำ กิจกรรมแรกคู่แม่ลูกได้ร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 จากนั้นบรรดาลูกคนและลูกช้างได้นำพวงมาลัยดอกมะลิมามอบให้กับแม่ แต่ดูเหมือนคู่แม่ลูกช้างจะเรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมปางช้างแม่สาวันนั้นได้มากกว่า เพราะลูกช้างทั้งออดอ้อน คลอเคลียและส่งเสียงทักทายได้อย่างน่ารัก
คู่แม่ลูกยังได้เรียนรู้วิธีการทำอาหารเสริมให้ช้างแม่ลูกอ่อน ซึ่งอาหารเสริมที่ว่าประกอบไปด้วยข้าวเหนียว เกลือ น้ำตาลทรายแดงและสมุนไพรที่มีส่วนผสมของมหาหิงค์ และไพรซึ่งก็เอามาคลุกเคล้ากันปั้นให้เป็นก้อนขนาดพอดีแล้วนำไปป้อนให้กับช้างแม่ลูกอ่อน นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีการทำอาหารและสมุนไพรให้กับช้างชรา ซึ่งช้างก็เหมือนกับคนที่พออายุมากขึ้นแม้จะอยู่ในปางช้างเค้าก็ให้หยุดพักผ่อน ด้วยพละกำลังที่อ่อนล้าโดยส่วนใหญ่ก็จะอายุเกือบจะหกสิบปีขึ้นไป ที่ปางช้างแม่สาแห่งนี้ก็จะมีศูนย์อภิบาลช้างไทย ซึ่งจะให้การดูแลช้างที่เกษียณโดยมีควาญช้างประกบดูแลอย่างใกล้ชิด
จากนั้นคู่แม่ลูกก็ไปนั่งร่วมวงฟังเสวนา”ช้างรักโลก โลกดูแลเรา” อ.นสพ.ดร.เฉลิมชาติ สมเกิด จากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในอดีตกาลช้างมีกว่า 100 ชนิด แต่เมื่อ 30 ล้านปีก่อนช้างได้สูญพันธุ์ไปตามวัฏจักรโลกจนเมื่อ 5 ล้านปีก่อนจึงเหลือช้างยุคใหม่เพียงไม่กี่ชนิดหรือสายพันธุ์ จนแทบจะเรียกได้ว่าเหลือเพียงสายพันธุ์ช้างแอฟริกากับเอเชียเท่านั้น
อย่างไรก็ตามบรรพบุรุษช้างยังมีอายุยาวนานกว่ามนุษย์ที่ไม่ถึงหนึ่งล้านปี เพราะฉะนั้นอายุขัยของตระกูลช้างจึงเก่าแก่กว่ามนุษย์ และเรียกได้ว่าช้างถือเป็นร่มโพธิ์ ร่มไทรให้กับสัตว์อื่นๆ เนื่องจากขนาดของตัวช้างที่ใหญ่เวลาเดินไปไหนก็ทำให้สัตว์อื่นได้ประโยชน์จากเส้นทางที่ช้างเดิน หรือที่เรียกกันว่า “ด่านช้าง”
นอกจากนี้ช้างยังใช้งวงดึงพืชอาหารที่อยู่สูงๆ ลงมาให้สัตว์ชนิดอื่นได้กิน นอกจากนี้มูลช้างก็ยังเป็นอาหารให้กับสัตว์บางชนิดด้วย ช้างยังเปรียบเป็นเหมือนสลักศิลาหรือหินสามเหลี่ยมบนสะพานโค้งที่เมื่อใดถูกดึงออกมาก็จะทำให้เกิดการล่มสลายได้ ดังนั้นช้างจึงถือว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์อย่างยิ่ง
ด้านผศ.นสพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาและวิจัยช้าง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เหตุที่มาของวันช้างโลกซึ่งตรงกับวันที่ 12 สิงหาคมและเป็นวันแม่แห่งชาตินั้น มีจุดเริ่มต้นมาจาก แพตทริเซีย ซิมส์ (Patricia Sims) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวแคนาดา ร่วมกับ มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติแห่งประเทศไทย โดยมีกำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2555
สำหรับมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อดำเนินโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติเพื่อสนองพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ดำเนินการติดตามและดูแลช้างที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถได้ทรงปล่อยคืนสู่ป่า เนื่องจากพบว่าปัจจุบันประชากรช้างป่ากำลังลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จากปัญหาการถูกล่าและผืนป่าซึ่งเป็นถิ่นอาศัยถูกทำลายลง ช้างเลี้ยงจำนวนมากต้องประสบปัญหาตกงานกลายเป็นช้างเร่ร่อนและช้างขอทานในเมืองใหญ่ หรือถูกใช้งานลักลอบลากไม้ผิดกฎหมาย
ด้วยทรงห่วงใยถึงวิถีชีวิตที่ผิดธรรมชาติของสัตว์ป่า อันเป็นเหตุแห่งการสูญพันธุ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจึงทรงพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาช้างไทย โดยเฉพาะปัญหาช้างลักลอบลากไม้ผิดกฎหมายและปัญหาช้างเร่ร่อน โครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจึงถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2540 เพื่อสนองพระราชปณิธานในการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ของโลก รวมทั้งเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ช้างเลี้ยงและช่วยฟื้นฟูประชากรช้างไทยภายใต้แนวความคิด “ช้างเลี้ยงก็คือช้างป่า” เพราะช้างเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าไปคัดเลือกและปรับปรุงสายพันธุ์ได้เหมือนสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิขึ้นโดยมุ่งหมายให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่สนับสนุนและดูแลโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติต่อไปในระยะยาว และได้พระราชทานชื่อว่า “มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ” เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545 โดยใช้ตราสัญลักษณ์เป็นรูปช้างในป่าต้นโพธิ์ รูปแบบลายรดน้ำสีฟ้า ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสีเขียวซึ่งแทนสีป่าธรรมชาติ และทรงพระราชทานพระนามาภิไธยย่อ “สก” ไขว้ไว้ใต้พระมหามงกุฎ อัญเชิญสถิตไว้เบื้องบน อันมีความหมายว่า ”สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นเสมือนร่มโพธิ์แห่งการอนุรักษ์ช้างไทย พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการคืนชีวิตช้างสู่ธรรมชาติ เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ป่าไม้ที่เสื่อมโทรมให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนดังเดิม”
ทางมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติได้มีการประกาศและทำหนังเกี่ยวกับช้างออกฉายไปทั่วโลก ซึ่งถือว่าประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มและจนเป็นที่ยอมรับขณะนี้มีกว่า 15 องค์กรทั่วโลกได้จัดกิจกรรมวันช้างโลกนี้ขึ้นมา
นางปิ่นนาถ เจริญผล ผอ.ททท.สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำช้างมาทำกิจกรรมพร้อมๆ กับส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งจริงๆ ก็เพื่อให้ช้างอยู่ได้ และธุรกิจอยู่ได้เพียงแต่มีการจัดการที่ถูกวิธี การจัดสภาพแวดล้อมให้ช้างได้อยู่กับธรรมชาติและเกื้อหนุนคนเลี้ยงช้างไปพร้อมๆ กัน และเพื่อให้คนได้เข้าใจมากขึ้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีการส่งเสริมกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสและเรียนรู้วิธีการเลี้ยงช้างในปางช้าง ทั้งการนั่งช้างเข้าป่าเพื่อให้ช้างได้หาอาหารตามธรรมชาติ อาบน้ำช้าง ป้อนอาหารช้าง และการที่ให้ช้างได้เตะฟุตบอลบ้าง วาดรูปบ้างก็ล้วนเป็นกิจกรรมที่ช้างได้รับการฝึกฝนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่เป็นการทรมานสัตว์แต่อย่างใด ซึ่งมุมมองในปัจจุบันเกี่ยวกับการนำช้างมาทำกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวก็ดีขึ้นและได้รับการยอมรับมากขึ้น
นายธีรภัทร ตรังปราการ ประธานชมรมปางช้างเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อหมดยุคการนำช้างมาลากจูงไม้ ก็ต้องมีที่ให้ช้างอยู่ การที่ช้างอยู่ในปางช้างก็ต้องหาจุดที่พอดีที่ทำให้อยู่ร่วมกันได้เพราะช้างไม่เหมือนสัตว์อื่นที่ต้องกินแล้วนอน เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มาก ตัวขนาดใหญ่ก็ต้องให้ช้างได้เดินเพื่อขยับตัวเพื่อช่วยในการย่อยและไหลเวียนของโลหิต ดังนั้นจึงมีการนำช้างได้มาเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เห็นและสัมผัสกับการอยู่ร่วมกันของคนและช้าง และการจัดเส้นทางนั่งช้างชมธรรมชาติก็จะไม่ให้เกิดผลกระทบกับช้าง ซึ่งปางช้างแต่ละแห่งก็จะมีสัตวแพทย์คอยดูแล และมีการจัดอบรมให้ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลช้างอยู่สม่ำเสมอ
ได้ความรู้จากวงเสวนาแล้ว ก็ได้เดินทางไปปรุงอาหารให้กับช้างชรา สำหรับอาหารช้างชรา ก็จะมีทั้งหญ้าเนเปียที่บดย่อยมาผสมคลุกเคล้ากับอาหารบดเม็ดที่มีส่วนผสมของสารอาหารเพื่อบำรุงและที่ขาดไม่ได้คือเกลือ เมื่อให้อาหารช้างชราแล้วก็ตามด้วยสมุนไพรเพื่อช่วยในการย่อยและระบาย เพราะช้างชราการย่อยอาหารก็คงยากเหมือนคนเรานี่แหละ ส่วนผสมของสมุนไพรสำหรับช้างชราก็มีมะขามเปียก บอระเพ็ดบดและเกลือนำมาคลุกเคล้าปั้นเป็นก้อน ไปป้อนให้ช้างกิน ให้อาหารช้างแล้วคณะก็ขยับไปที่สุสานช้างที่อยู่ใกล้ๆ กัน
ช้างก็เหมือนกับคนมีเกิด แก่ เจ็บและตายเป็นวัฎจักรที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หลายคนคุ้นชินกับวันช้างไทย เพราะช้างถือเป็นสัตว์คู่บ้าน คู่เมืองมาแต่โบราณกาล มาวันนี้กับอีกความสำคัญหนึ่งคือ วันช้างโลก วันที่อยากให้คนทั้งโลกได้เรียนรู้และเห็นถึงความสำคัญของช้าง ที่อยากให้ผู้คนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของช้าง พร้อมทั้งช่วยเป็นกระบอกเสียงในการรณรงค์อนุรักษ์และปกป้องช้าง จากการถูกคุกคามโดยมนุษย์.